ลึกกว่ายอดเอนเกจ : คุยกับ ลูกไม้ Erdy ในวันที่งานออกแบบของเธอปรากฎทุกที่ในประเทศไทย

คุณอาจจะรู้สึกคุ้นเคยกับสติ๊กเกอร์และสารพัดของกุ๊กกิ๊กที่ปรากฎในภาพ – ลูกไม้ ดวงกมล หรือนามแฝง Erdy (เออดี) เป็นนักวาดภาพประกอบอิสระที่ทำงานหลากหลายทั้งกราฟิก อินโฟ เวคเตอร์ ไปจนถึงสีน้ำ 

แม้ผลงานจะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนวัยเรียน แต่สำหรับลูกไม้แล้ว วัย 30 ปีของเธอ คือช่วงวัยที่ “โดนล้างสมองว่าต้องมีบ้านรถ และมีเงินเก็บหลายล้าน แต่เราก็แอบคิดว่า เราไม่มีได้มั้ย”

วันนี้ Free Spirit Club เลยอยากจะชวนลูกไม้คุยถึงทรรศนคติของชีวิตและการงานในฐานะนักวาดที่มีประสบการณ์คนหนึ่ง

อะไรทำให้อยากเป็นนักวาดภาพประกอบ?

คือตอนแรกเราอยากวาดการ์ตูน แต่พอได้ลองวาดจริงๆ แล้วมันเหนื่อยเพราะต้องวาดหลายช่อง หลายหน้า เลยหันมาวาดภาพประกอบแทนเพราะมันวาดรูปเดียวจบ 555 ที่จริงตอนเรียนมหาลัย เรายังไม่รู้ว่าเราชอบทำอะไรนะ ช่วงนั้นเลยลองเรียนหลายอย่าง ไปลงเรียนกราฟิกก็พบว่าเครียด เรียนวาดรูปสนุกกว่า ทีนี้ได้ทีสิสเป็นหนังสือ งานวาดก็เลยลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

งานที่ทำแล้วชอบเองในช่วงนี้คืองานชิ้นไหน? 

ชิ้นที่ทำภาพประกอบให้กับหนังสือของการท่องเที่ยวไทย เพราะเป็นเล่มที่พูดเรื่องทรัพยากรกับการท่องเที่ยว ว่ามันมีอะไรมากกว่าแค่ชวนคนไปเที่ยวช่วงวันหยุดแต่มันมีเรื่องของทรัพยากรไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทรัพยากรบางอย่างใช้แล้วอาจหมดไป ดังนั้นมันมีอะไรซ่อนอยู่หลังคำว่าการท่องเที่ยวเยอะมาก

ตอนนี้งานของลูกไม้มีอยู่ทุกที่เลย ถือว่าจุดนี้สำเร็จหรือพึงพอใจแล้วหรือยัง?

เราว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในแง่การทำเป็นอาชีพ เพราะเรายังต้องรับงานกราฟิกหรืองานเอเจนซี่ที่มีบรีฟจากลูกค้า สำหรับเราการประสบความสำเร็จในฐานะนักวาดหรือศิลปินคือได้วาดตามใจตัวเอง และมีคนให้มูลค่ากับงานของเราที่ออกมาจากตัวเรา

ในช่วงที่ต้องหาที่ยืนให้ตัวเองในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน มีอะไรที่อยากเล่าให้นักวาดรุ่นใหม่ๆ รับรู้บ้าง ?

ส่วนใหญ่แล้วปัญหาของนักวาดใหม่ๆ คือ รู้ตัวอีกทีก็มีนักวาดอยู่เต็มทะเล คือมีคนเป็นนักวาดเยอะมากกกกกก ดังนั้นโดยธรรมชาติ ทุกคนก็จะอยากทำตัวให้โดดเด่น เป็นที่ต้องการของสังคม หรือทำตัวให้เกิดอิมแพคต่างๆ แต่วิธีการที่เราเลือกใช้เนี่ยมันมีได้หลายวิธี เช่น บางคนอาจจะเลือกเล่นมุก Sexual Harrassement เพื่อเรียกยอดเอนเกจเม้น หรือบางคนทำงานตามเทรนด์ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็สามารถอยู่ได้ แต่สำหรับคนที่รักในการวาดรูปจริงๆ มันจะมีวันนึงที่เรารู้สึกหลงลืมไปว่า นอกจากเอาใจคนอื่นแล้ว เราเป็นใครกันแน่ 

วันที่เราเริ่มไม่รู้จักตัวเอง เราจะแฮปปี้กับงานของเราน้อยลง ดังนั้นเราว่าความยั่งยืนของคนมันไม่ใช่การทำตามยอดเอนเกจเม้นจนหลงทางไปจากการรู้จักตัวเอง

พี่ลูกไม้เคยหลงทางมั้ย กลับมายังไง?

สมัยเรา เราสังเกตได้ว่าการวาดคาร์เรคเตอร์เดียวซ้ำๆ หรือทำแนวเดียวจนคนจดจำเราได้ มันง่ายกว่าที่จะเป็นที่ติดตา หรือประสบความสำเร็จ ซึ่งเราเคยลองแนวนั้นแล้วเราไม่แฮปปี้เลยเพราะมันขัดกับธรรมชาติของเรา

อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าเราเป็นคนที่ชอบลองหลายอย่าง ชอบลองเปลี่ยนเทคนิคเรื่อยๆ หลังจากทำตามใจคนอื่นมากๆ สุดท้ายเราก็กลับมาทำอะไรที่เป็นเราคือนักทดลองอยู่ดี

ไอ้การเป็นตัวเองทั้งที่รู้ว่ามันอาจไม่ได้นำไปสู่ความนิยมกระแสหลักเนี่ย มันยากมั้ย?

มันเป็นธรรมชาติของมันนะ ไม่ว่าจะเป็นที่นิยมหรือไม่ แต่เรารู้สึกได้เองว่าทำอะไรแล้วเราสนุก ทำอะไรแล้วเราไม่สนุก แม้ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับคนอื่น ในแง่ที่เรารู้สึกว่าฉันวาดมาตั้งนานแต่ยังทำได้ไม่เท่าคนอื่นอะไรแบบนี้ มันจะมีโหมดที่สลับไปสลับมาระหว่างสนุกกับไม่สนุกอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งช่วงนี้ทำงานเกี่ยวกับสังคมการเมืองออกมาเยอะขึ้น ทำยังไงกับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของคน?

ต่อเนื่องมาจากข้อก่อนๆ เลยว่า ถ้าเราทำงานใดๆ เพราะเราอยากแสดงออกของเราเอง ไม่ได้หวังจะทำเอาดังหรือเอนเกจเม้น เราก็เป็นอิสระจากความคาดหวังนะ อย่างสิ่งที่เราทำ ทำเพราะรู้สึกว่ามันต้องมีคนพูดเรื่องนี้  แค่นี้มันก็สำคัญสำหรับเราแล้ว

ปกติคุยกับคนอื่นเรื่องความรู้สึกบ่อยมั้ย ?

เราเคยพยายามคุยกับคนที่เราสนิทเพื่ออธิบายว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไร เราเคยบอกเค้าว่าเราเครียด แต่เราอธิบายไม่ได้เลยว่าเครียดอะไรบ้าง ต้องมาคุยกับตัวเองในหัว หรือบางทีเราอยากพูดเรื่องปัญหาที่เราเจอ หลายๆ คนก็จะให้คำแนะนำในเชิงตัดสินหรือช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่บางทีเราอาจจะแค่อยากให้มีคนรับฟังเฉยๆ พวกนี้ก็เป็นอุปสรรคในการจะแสดงความรู้สึก สุดท้ายเลยไม่ค่อยพูด เก็บไว้กับตัวเอง

วันนี้เราชวนมาเล่น เกมไพ่ Free Spirit Dialogue Starter เล่นแล้วเป็นยังไงบ้าง ?

เราว่ามันเหมาะกับการเล่นกับคนที่รู้จักกันมาแล้วประมาณหนึ่ง ข้อดีของมันคือ กติกามันให้คนได้พูดไปเรื่อยๆ โดยที่อีกฝ่ายฟังอย่างเดียวไม่ต้องโต้ตอบ ทำให้เรารู้สึกว่า เออ ดีเหมือนกัน เหมือนบังคับให้ทุกคนหัดรับฟัง ทำให้เราปลอดภัยที่จะเล่าในข้อแรก

ประการถัดไปคือ หากเป็นคนที่มีอะไรในหัวเยอะๆ อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ พอมีภาพมันก็ช่วยจับความรู้สึกได้ว่า เอ้อ เรารู้สึกคล้ายๆ ภาพนี้ ภาพนั้น ทำให้เข้าใจตัวเองในอีกมิติโดยไม่ต้องเลือกคำ 

เช่น เราอาจจะรู้สึกเศร้า แต่ไม่ใช่คำว่าเศร้า บอกเพื่อนว่าเนี่ย ฉันรู้สึกแบบในรูปนี้ อีกฝ่ายเห็นแล้วก็รู้สึกได้เองจากภาพ

คำถามท้ายๆ ละ : ดูแลตัวเองยังไงในช่วงนี้ ที่นิวส์ฟีดมีอารมณ์ท่วมท้นทุกๆวัน ?

เราค่อนข้างรู้ตัวว่าจุดไหนคือจุดที่เรารู้สึกว่าเสพข่าวเยอะไป อาการที่เป็นจุดตัดสินคือ ถ้ารับมามากไป เราจะรับผิดชอบชีวิตได้น้อยลง หรือไม่อยากทำอย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่นวันก่อนเรารับฟีดจนป่วย นอนไม่หลับ จุดนี้ก็ต้องบังคับตัวเองให้ออกนอกโซเชียล หันไปดูสตีมเกม (แต่ก็ต้องเลือกคนที่ดูอุดมการณ์เดียวกับเราอีกที) 

เคยรู้สึกผิดมั้ยเวลาเราหยุดรับฟีด ?

แรกๆ เรารู้สึกผิด เพราะทุกคนรู้ว่าปัญหามันเยอะมากกกกกก ในสังคม แล้วต้องช่วยกันพูด ช่วยกันเรียกร้อง แต่อุปสรรคมันก็เยอะตามไปด้วย ทีนี้พอเราไม่หยุดทำ เราโหมทุกอย่างไม่มีพัก สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราคือเราอาจจะพัง ต้องหยุดถาวรไปเลย ดังนั้นการมีช่วงผ่อน มีช่วงที่หยุดชั่วคราวให้ตัวเองบ้าง มันก็ช่วยให้เราติดตามและสร้างสรรค์สังคมได้อย่างมีคุณภาพแบบนึง

Free Spirit Club ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังค้นหาตัวเอง และเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนที่อยู่ในภาวะเดียวกัน วันนี้เกมไพ่ Free Spirit Dialogue Starter สามารถเล่นออนไลน์ได้ที่ www.myfreespirit.net หรือติดต่อขอรับเกมการ์ดได้จากกิจกรรมในแฟนแฟจ Free Spirit Thailand 🙂