พูดถึงพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา กับคุณอิ๊ก – กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ สตาร์ทอัพด้านสุขภาพจิตที่ทำให้สุขภาพจิตเข้าถึงได้สำหรับคนไทย

สำหรับคนที่ติดตามวงการสตาร์ทอัพและสุขภาพจิต เราอาจจะคุ้นชื่อ Ooca แอพลิเคชันและเว็บแอปที่ทำให้การนัดหมายจิตแพทย์/นักจิตวิทยาเป็นเรื่องง่าย รวมไปถึงโครงการ Wall of Sharing ที่ช่วยให้นักศึกษาและเยาวชนสามารถรับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันนี้เราเปลี่ยนบรรยากาศจากการพูดถึงงานของเธอมาพูดถึงคุณค่าของพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนาผ่านการ์ดเกม Free Spirit Dialogue Starter ร่วมกับทีมงานของคุณอิ๊ก กัญจน์ภัสสร ในเย็นวันหลังเลิกงาน

คนไทยมีโอกาสได้คุยเรื่องลึกๆ กันบ่อยขนาดไหน

แล้วแต่สังคมว่าเค้าอยู่ในสังคมแบบไหน บางคนอาจจะพูดคุยเรื่องชีวิต ปรัชญา ความหมาย กับกลุ่มเพื่อนอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งแหละที่ไม่มีโอกาสได้เล่าเรื่องพวกนี้เลย 

อย่างเวลาไปงานกินเลี้ยง ไปเจอเพื่อนที่ไม่สนิท ก็อาจถูกถามว่าชีวิต งาน ความรัก เป็นยังไง มีลูกหรือยัง ลูกเป็นเพศอะไร ทำบ้านไปถึงไหน สุขภาพเป็นยังไง ซึ่งทุกคนรู้กันว่าบทสนทนาภาคบังคับคืออะไร และเป็นสิ่งที่เราเดาคำตอบได้ ส่วนหนึ่งเพราะเวลาในการจะมานั่งคุยกันจริงๆ มันไม่ได้หากันง่ายๆ

แต่ เราเชื่อว่า การเปิดใจนั่งคุยกันลึกๆ กับใครสักคน มันก็เป็นสิ่งที่ต้องถูกฝึกมา บางคนที่รู้สึกคุ้นชินกับการเล่าเรื่องและความรู้สึกของตัวเองก็จะสามารถพูดได้เลย แต่คนที่ยังไม่ชิน เขาจะต้องการพื้นฐานปลอดภัย ไว้วางใจที่จะเล่า หรือที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัย (safe space)

————-

 

พื้นที่ปลอดภัยคืออะไร สร้างยังไง

ความรู้สึกปลอดภัย แปลว่า พื้นที่ตรงนั้นไม่มีภัย ไม่มีอันตราย เป็นที่ที่เราสามารถแสดงมิติของตัวเองที่หลากหลายออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เราอ่อนแอ ด้านที่เราไม่เชี่ยวชาญ ด้านที่เราไม่ชิน ด้านที่เราไม่ปัง ซึ่งพอเราแสดงออกสิ่งเหล่านี้ออกมาแล้ว พื้นที่ปลอดภัยอย่างน้อยที่สุดจะไม่ทำให้แย่ลงไปกว่าเดิม ไปจนถึงอาจสนับสนุนให้เรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย

พื้นที่ปลอดภัย แปลว่า เราจะไม่ถูกทำร้ายซ้ำ ซึ่งพื้นที่นั้นอาจเกิดกับคนที่สนิทกับเรามากๆ เคยเห็นทุกมุมของเรา เข้าใจเราทุกมุมของเรา อย่างเช่นเพื่อน คนรัก ครอบครัว กับคนอีกประเภทคือคนที่ไม่มีพันธะเกี่ยวข้องกับเรา ทำให้ไม่มีเหตุให้มาตัดสินเรา แต่เราไว้วางใจเค้ามากพอที่จะระบายความรู้สึกของเราออกไปได้ 

ที่จริงพื้นที่ปลอดภัยไม่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจด้วยซ้ำ อาจเป็นคนที่อยู่คนละจักรวาลกับเราเลยก็ได้นะ ยกตัวอย่างเช่น การไปเที่ยวต่างประเทศหรือเจอคนจากต่างวัฒนธรรม ไม่มีพันธะหรือพื้นฐานเรื่องราวชีวิตร่วมกัน ได้พากันไปกินของอร่อยๆ ทำให้เรารู้สึกดี พร้อมที่จะดูแลเรา และไม่ทำร้ายเราเพิ่ม ความสัมพันธ์แบบนี้มันก็เกิดขึ้นได้ กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในห้วงระยะเวลานั้นๆ 

ดังนั้นการจะพูดคุยกันได้อย่างลึกซึ้ง พื้นฐานคือต้องรู้สึกปลอดภัยนี่แหละ ซึ่งบางครั้งเนี่ย ที่ที่เข้าใจเราที่สุดอย่างที่บ้าน อาจไม่ใช่ที่ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยเสมอไปก็ได้

ถ้าเราอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนอื่น ควรเริ่มยังไง

 ลองคิดดูว่า พื้นที่แบบไหนที่เรารู้สึกปลอดภัย? สำหรับเราแล้ว มันคือพื้นที่ที่ทำให้เราสบายใจ ไม่ต้องห่วงลุค ไม่ถูกตัดสิน และสนับสนุนเราเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีการเหมารวม ไม่ตัดสินหรือมีปฏิกริยาก่อให้เกิดทัศนคติที่ทำร้ายเรา 

เป็นพื้นที่ ที่กล้าแสดงมุมที่เราเป็นออกมาได้ เพราะเรารู้ว่าคนๆ นั้นจะไม่ทำร้ายคุณและรับฟังคุณ คือบางครั้งเราอาจจะผิดก็ได้ แต่พื้นที่ปลอดภัยจะเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ซ้ำเติมเรา

 

เล่นเกมการ์ด Free Spirit Dialogue Starter แล้วเป็นยังไงบ้าง

ที่จริงเล่นแบบไม่คาดหวังอะไรเลยก็น่ารักดี แต่ถ้าเล่นจริงจังก็ค่อนข้างตอบโจทย์ ใช้เป็นเครื่องมือชวนคุยได้ทั้งเรื่องทั่วไปสัพเพเหระ ละลายพฤติกรรม ไปจนถึงระดับที่เอาไว้ช่วยขุดความรู้สึกของมนุษย์ที่ไม่กล้าพูด เช่น มนุษย์อินโทรเวิร์ท คนที่เก็บความรู้สึกเอาไว้ข้างในเยอะๆ 

——–

Free Spirit Club ขอเชิญชวนให้ทุกคนสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองและคนรอบข้าง  วันนี้เกมไพ่ Free Spirit Dialogue Starter สามารถเล่นออนไลน์ได้ที่ www.myfreespirit.net หรือติดต่อขอรับเกมการ์ดได้จากกิจกรรมในแฟนแฟจ Free Spirit Thailand 🙂