“ถ้าฉันตายไปในวันนี้ พรุ่งนี้ อาทิตย์นี้ ฉันจะทำอะไรให้คนรักมีความสุข” Be with you คือนิยายขายดีจากปลายปากกาของ อิชิคาว่า ทากูจิ นักเขียนผู้ถนัดแนวรัก-แฟนตาซี ที่เหมือนดังต้องชะตากับ โนบุฮิโระ โคอิผู้กำกับภาพยนตร์แนวรัก-โรแมนติก เช่น Nada Sousou และซี่รี่ย์โทรทัศน์แนวความรักอีกกว่า 10 เรื่อง ผลงานของนักเขียนและผู้กำกับคู่นี้กลายมาเป็น ภาพยนตร์แสนซึ้ง เศร้า อบอุ่น และกรุ่นด้วยไอรัก กระทั่งจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป และทำรายได้ถึง 2,400 ล้านบาท
ณ บ้านหลังน้อยในชนบทแห่งหนึ่ง สองพ่อลูกนั่งกินข้าวด้วยกันอย่างเงียบๆเหมือนเช่นทุกวัน
พ่อ (ทาคูมิ วัยราว 30 เศษ) “อ้าว…อิ่มแล้วหรือลูก ? พ่อทำอาหารห่วยแตกมากเลยนะ”
ลูก (ยูจิ วัยราว 8 ขวบ) “ไม่หรอกพ่อ พอดีผมไม่ค่อยหิวน่ะ”
พ่อ(สีหน้าสลด) “ยูจิ พ่อต้องขอโทษด้วยนะ”
สองพ่อลูกช่างเอื้ออาทรต่อกันทั้งทีท่าทั้งวาจา พวกเขาประคับประคองจิตใจซึ่งกันและกัน หลังจากที่ต้องปวดร้าวใจแทบสลายเมื่อมิโอะ (แม่ของลูก- ภรรยาของทาคูมิ) ต้องตายจากไป
“แม่ไปอยู่ในพิภพดารา พอครบ 1 ปีในหน้าฝน…แม่จะกลับมา”
คงด้วยตุ๊กตาไล่ฝนที่ลูกหมั่นแขวนกลับหัว ด้วยจิตอธิษฐานของสองพ่อลูก และด้วยคำมั่นสัญญาที่เธอเคยให้ เมื่อฝนโปรยแรกของวสันตฤดู มิโอะกลับมาจริงๆ !
เธอกลับมาเพื่อให้สามีได้สารภาพถึงความรู้สึกผิด ที่เก็บมาเนิ่นนาน
“ผมเสียใจ ผมขอโทษ ขอโทษที่ผมมันอ่อนแอ กระทั่งไม่มีปัญญาพาคุณไปเที่ยวที่ไหน ๆ เหมือนคู่รักอื่น ๆ เขา”
เพื่อเธอเองจะได้บอกความรู้สึกที่แท้จริงเช่นกัน
“นั่นไม่ใช่สาระอะไรเลยทาคูมิ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ฉันรักคุณ”
เธอกลับมาเพื่อที่จะคลายทุกข์ที่ลูกชายตัวน้อยวัย 8 ขวบ ต้องแบกไว้ในใจตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ หลังจากได้ยินญาตินินทา
“เฮ้อ…ไม่น่ามียูจิเลย…ก่อนคลอดมิโอะก็ยังแข็งแรงดีอยู่แท้ๆ”
“แม่ครับ เป็นผมใช่มั้ย? ที่ทำให้แม่ต้องจากพวกเราไป”
“ไม่จริงจ้ะ จำไว้นะ เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้พ่อกับแม่รักกัน ก็เพราะเราอยากให้ลูกเกิดมา”
ความหมกมุ่นคิดถึงแต่คนที่รักและความรู้สึกผิดที่สองพ่อลูกกำลังแบกอยู่เต็มบ่านั้น แท้แล้วก็คือ อีกขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเศร้าโศกอันเกิดจากการสูญเสีย (Normal Grief) นั่นก็คือ ช็อค-ชา โกรธ-ไม่ยอมรับความจริง เศร้าโศก-หมกมุ่น รู้สึกผิด-โทษตัวเอง เริ่มยอมรับความจริง ปลงได้-จิตใจสงบลง แต่ยังระลึกถึงความดีงามของผู้ที่จากไปอย่างไม่มีวันลืม
การฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งของผู้อันเป็นที่รัก คือความปรารถนาของคนมากมายบนโลก แม้นั่นเป็นเพียงโลกแฟนตาซีที่ซุกซ่อนอยู่ในใจทุกคน (Magic thinking) แต่มันมักจะผุดขึ้นมาเสมอในยามที่เราท้อแท้ ปวดร้าว หรือหาทางออกใด ๆ ไม่ได้
ในเด็กวัย 4- 6 ขวบ และวัยแรกรุ่น 12- 16 ปี คือวัยที่มักใช้ความคิดเชิง Magic thinking บ่อยกว่าช่วงวัยอื่น ๆ หรือแม้แต่วัยใดก็ตามก็มีโอกาสจะเกิดความรู้สึกติดค้างอยู่ในพัฒนาการวัยเด็กเล็ก ในขั้น Primary process ที่ยังมีความเชื่อว่า ความต้องการทุกอย่างของตน จะต้องสมปรารถนาเสมอ (Magical thinking) อันเป็นความเพ้อฝันประสาเด็ก ๆ (Fantasy)
แล้วก็ยังเชื่ออีกว่า ทุก ๆ สิ่งในโลก (เช่น ของเล่นทั้งหลาย) ล้วนมีชีวิตจิตใจ เช่นเดียวกับตนเอง จากนั้นเด็กๆจะค่อย ๆ พัฒนาการใช้ความคิดความเข้าใจ และใช้เหตุผลได้ดีขึ้น ๆ ตามวันเวลาที่เขาเติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีที่เหลือคงค้างไว้ในจิตไร้สำนึกมากบ้างน้อยบ้าง ต่างกันไปในผู้ใหญ่แต่ละคน ซึ่งโดยมากแล้วจะออกมาในเรื่องของความเชื่อที่แฝงด้วยความกลัว เช่น อิทธิปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในจิตส่วนลึก อันได้แก่ ความกลัว ความรู้สึกผิด และ ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย
ดังเช่นที่ Bowlby จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เคยกล่าวว่า “มนุษย์เรานั้นไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด โดยส่วนลึกแล้วล้วนเชื่อว่ามีชีวิตหลังความตาย เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ไปอยู่กับคนที่ตนรักอีกครั้ง นั่นคือที่มาของทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการทางชีวภาพของมนุษย์ แต่เกิดจากการโหยหาความรัก การดูแลปกป้อง และ ต้องการความความปลอดภัย”
เพราะเหตุว่า เด็กในวัยแบเบาะ (7- 8 เดือน) เริ่มรับรู้ได้แล้วถึงการแยกจากและภาวะโดดเดี่ยวไม่ปลอดภัย นั่นทำให้เขาต้องร้องไห้จ้าด้วยความตกใจในทุกครั้งที่ลืมตาตื่นแล้วไม่พบแม่ พอถึงวัยขวบครึ่ง เขาก็เริ่มเรียนรู้ถึงความทรมานใจในยามที่ต้องห่างจากแม่ เด็กบางคนรู้สึกถึงขั้นคิดถึงแม่จนแทบสิ้นใจเลยทีเดียว
แม้ว่าในเวลาต่อมา ที่เขาเริ่มเห็นแล้วว่าพ่อหรือแม่ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่จากไปเพียงไม่นาน เดี๋ยวก็กลับมา แต่หากวันใดวันหนึ่งเมื่อเขารู้อย่างแน่ชัดแล้วว่า คนที่ตนแสนรักนั้นจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ความกลัว ความวิตกกังวล ความโหยหา และความเศร้าโศกจึงถูกปลุกเร้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งก็คงต้องอาศัยเวลาเป็นสิ่งเยียวยาในการปรับตัวปรับใจ กว่าจะผ่อนคลายลงและเข้มแข็งขึ้น โดยทั่วไป (Normal Grief) จะกินเวลาราว 6 เดือนขึ้นไป เว้นในรายผิดปกติที่นานแค่ไหนก็ยังระทมทุกข์ไม่จางคลาย (Pathology Grief) ซึ่งควรต้องได้รับการปรึกษาและเยียวยาจากจิตแพทย์
แม้ว่า Be with you จะเป็นภาพยนตร์แนวรัก-แฟนตาซี แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะพบว่า นี่คือหนังเรียลลิสติก ที่ว่าด้วยความรัก ความเข้าใจ สมกับคำนิยามความรักที่ว่า รัก คือ ห่วง หวง เข้าใจ คิดถึง และเสียสละ หากใครสังเกตก็จะพบว่า เราแทบจะไม่พบเทคโนโลยี หรือสินค้าไฮเอนใด ๆ ในหนังเรื่องนี้ นอกจากจักรยาน สายลมแสงแดด ทุ่งหญ้าป่าเขา หยาดฝนที่โปรยปราย นั่นคงสะท้อนว่าความสุขของครอบครัว คือความเป็นธรรมชาติ และความจริงใจ อันเป็นสิ่งที่สมาชิกในบ้านต่างก็มองเห็นคุณค่า ห่วงหาเอาใจใส่ ถนอมน้ำใจ รักใคร่ลึกซึ้ง ถึงซึ่งความอดทน และอภัยให้เสมอ
สิ่งเหล่านี้ก็คือ ความรักที่มีวุฒิภาวะ (Mature love) ที่ทั้งสามพ่อแม่ลูกมีอยู่อย่างครบพร้อม ที่แม้แต่หนูน้อยยูจิก็มีวุฒิภาวะในรัก ซึ่งคงได้แบบอย่างที่ดีมาจากคุณพ่อคุณแม่ อันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับ รักแบบโรคประสาท (Neurotic Love) หรือรักไร้วุฒิภาวะ (Immature love) โดยเอาแต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเอง มองเห็นแต่ความต้องการของตนเป็นสำคัญ ความรักดังกล่าว เป็นเพียงเพื่อสนองความอ่อนแอไม่มั่นคงในจิตใจของตนเท่านั้น
สิ่งที่เป็นไปในชีวิตครอบครัวที่น่าเศร้าดังกล่าวคือ อารมณ์เสียบ่อย ไม่ค่อยยิ้ม ไม่ค่อยหัวเราะ หาเรื่องทะเลาะกันไม่รู้จบ เอาแต่ตำหนิ บ่น ด่า ว่ากันในเชิงลบ
แม้ว่า Be with you จะเป็นภาพยนตร์เศร้าเคล้าน้ำตา การสูญเสียพรากจาก แต่เมื่อดูจนจบก็กลับอิ่มอกอิ่มใจ มีความหวังในชีวิต เหมือนวันชื่นคืนสุขหวนคืนมาอีกครั้ง เพื่อได้แก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องที่เคยทำมา เพื่อปรนนิบัติดูแลคนที่แสนรักให้ครบถ้วนและงดงาม และเพื่อตระหนักไว้ในนาทีนี้ที่ตนเองและคนรักยังมีลมหายใจ
“ถ้าฉันตายไปในวันนี้ พรุ่งนี้ อาทิตย์นี้ ฉันจะทำอะไรให้คนรักมีความสุข”
– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –