This is Life – ถึงผมจะไม่ฉลาด แต่ผมรู้ดีว่า ความรักคืออะไร (Forrest Gump)

“ชีวิตก็เหมือนช็อกโกแลต ที่ไม่รู้ว่าในนั้นสอดไส้อะไรบ้าง?” หนึ่งในประโยคเด็ด จากภาพยนตร์หลายรางวัลเรื่องนี้ ที่ได้กลายเป็นคติประจำใจของใครหลาย ๆ คน

 

เนื้อหาสะท้อนให้เห็นได้จากการก้าวสู่จุดสูงเด่นของชายไอคิวต่ำอย่างนาย ฟอเรสท์ กัมพ์ที่เพียงทำ ณ วินาทีนี้ให้ดีที่สุด โดยไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และโดยไม่คาดหวังใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ ตีปิงปอง, วิ่งมาราธอนหรือ ฝึกทหาร 

 

ในขณะที่ หมวดแดน – บั๊บบ้า หรือ เจนนี่  ก็ล้วนแต่เป็นเช่นปุถุชนอย่างเรา ๆ คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็น เจ็บปวดกับอดีต ไร้ความสุขกับปัจจุบัน แถมหวาดกลัวสลับเพ้อเจ้อกับอนาคตอันลม ๆ แล้ง ๆ

 

โดยเฉพาะ”เจนนี่”สาวสุดเลิฟของนายกัมพ์  ที่ความเละเทะล้มเหลวในปัจจุบัน ล้วนแต่เกิดเพราะ การหมกมุ่นขุ่นแค้นจากการถูกรังแกในวัยเด็ก  โดนพ่อกระทำย่ำยีทางเพศ (Sex Abuse) กระทั่งกลายเป็นบาดแผลทางใจที่กรีดลึก (Psychic trauma) และไม่ได้รับการเยียวยา

 จึงส่งผลให้เจนนี่ ออกตะรอนๆแสวงหาคำตอบอย่างสับสน และกว่าจะกระจ่างใจว่า แท้จริงแล้วหัวใจของเธอนั้นปรารถนาสิ่งใด ก็ในวันที่ชีวิตใกล้ถึงวาระสุดท้าย

 

แม่ของ เจนนี่ตายจากไป เมื่อเธออยู่ในวัยแค่ 5 ขวบ เธอและน้องสาวจึงต้องอยู่กับพ่อขี้เมา และที่โชคร้ายก็คือ “พ่อ” คนนี้ดันมีบุคลิกประเภทไร้วุฒิภาวะ แยกตัว และต่อต้านสังคม ซึ่งทำให้ครอบครัวนี้มีลักษณะตัดขาดจากสังคมภายนอก (Isolate) แม้อาจมีการติดต่อกับเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างฉาบฉวย 

 

พ่อผู้ไร้วุฒิภาวะผู้นี้ จึงเห็นลูกสาวตัวเล็ก ๆ ทั้งสอง เป็นที่พึ่งพิงและผ่อนคลายทางเพศ และถึงกับลงมือข่มขืน อันเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนของคนสุขภาพจิตเสื่อม

 

เด็กที่โดนย่ำยีทางเพศนั้น นอกจากจะได้รับผลร้ายทางจิตใจในระยะสั้น เช่น เครียด ซึมเศร้า ตื่นตระหนก หวาดผวา ฝันร้าย ยังส่งผลเสียในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย เช่น  เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจ เกิดความรู้สึกผิด(ทั้งที่ตนไม่ได้ผิด) รู้สึกตนเองไร้ค่า เหมือนสินค้าชำรุด ยิ่งบุคคลที่ย่ำยีนั้นเป็นพ่อแท้ ๆ ก็ยิ่งทำลายความไว้วางใจผู้อื่นขั้นพื้นฐาน (Basic Trust) เสียสิ้น 

 

ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมผิดปกติ อย่างน้อย 4 อย่าง

  1. Traumatic sexualization เด็กที่โดนผู้ใหญ่หลอกล่อ หรือกระตุ้นเพื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วย มักกลายเป็นเงื่อนไขในเวลาต่อมา ทำให้เธอกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สำส่อนทางเพศและใช้ Sex เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

 

  1. Powerlessness เด็กผู้โดนทารุณทางเพศ จะเกิดความฝังใจว่าตนเองนั้น ไม่มีคุณค่า ไม่มีอำนาจที่จะดูแลตนเองได้ จึงมักกลายเป็นผู้ยอมจำนนและปล่อยตนให้ล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย (ความปรารถนาจะมีอิสระ เช่น นกที่โผบินของเจนนี่ จึงกลายเป็นกอสวะที่ไหลสเปะสปะไปเรื่อย ๆ) … เจนนี่เคยมุ่งมั่นว่า “ฉันอยากเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่างโจอัน เบซ” แต่แล้วเธอกลับต้องแลกกับการได้เป็นนักร้อง ด้วยการยอมแก้ผ้าร้องเพลงในบาร์โลว์คลาสแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ตามแห่แหนไปกับกลุ่มฮิบปี้ แล้วสุดท้าย เจนนี่ก็กลายเป็นสาวขี้ยา และเกือบโดดตึกตายเพราะซึมเศร้าและพี้ยาอย่างหนัก

 

  1. Stigmatization  แม้จะยังเป็นเด็ก แต่เธอก็รู้สึกได้ถึงความละอาย และเหมือนตนมีบาดแผลติดตัว

 

  1. Betrayal ยิ่งโดนคนในครอบครัว กระทำย่ำยีก็ยิ่งเหมือนโดนทรยศหักหลัง ความคิดรวบยอดของเด็กก็คือ ขนาดคนเป็นพ่อ ที่ควรจะต้องรัก ดูแล และปกป้องลูก ยังกลับเห็นลูกเป็นเครื่องระบายความใคร่ ฉะนั้น คนอื่นๆในโลกนี้ก็ไม่ควรค่าแก่การไว้ใจได้เลย

 

เด็กที่โดนคนในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศ มักจะถูกปกปิดจนกลายเป็นความลับอันดำมืด กว่าจะมีใครล่วงรู้ก็มักใช้เวลานาน เด็กจึงกลายเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง ที่โดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า (เช่น กรณีของเจนนี่ที่นับจากวันที่แม่ตายตั้งแต่เธอ 5 ขวบ กระทั่งถึงวันที่พ่อถูกตำรวจจับและแยกเธอไปอยู่กับยาย อาจกินเวลากว่า 3 ปี)

 

เด็กจึงต้องเผชิญกับความทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ   มีบาดแผลฉีกขาด อักเสบเรื้อรังที่อวัยวะเพศ หลาย ๆ รายมีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ มีโรค เด็ก ๆ มักมีอาการเหม่อลอย ซึมเศร้า แยกตัว ฝันร้าย หรือละเมอซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมดความร่าเริงที่จะเล่นกับเพื่อน ๆ หมดสมาธิทึ่จะเรียนหนังสือ ไม่อยากกลับบ้าน ปวดท้อง ปวดหัว อาเจียน

 

หากเป็นเด็กวัยรุ่น ก็มักจะปวดร้าวใจอย่างหนัก บางรายประชดชีวิตด้วยการสำส่อนทางเพศ ติดยาเสพติด กรีดข้อมือ พยายามฆ่าตัวตาย  หนีออกจากบ้านเตลิดไปเรื่อยๆ และกลายเป็นเด็กเร่ร่อน

 

สิ่งเหล่านี้ คือผลจากการทารุณกรรมที่เด็กได้พบ มันคือความสยองขวัญบั่นทอนจิตใจ ที่ทำให้พวกเธอมองโลกอย่างบิดเบี้ยว และดำเนินชีวิตไปอย่างสับสน และมักจะนำพาตนเองไปในหนทางเสื่อมต่ำอย่างน่าเสียดาย

 

“ปุ๊บปั๊บเธอก็ไป แล้วจู่ ๆ เธอก็มา สุดท้ายเจนนี่ก็กลับมาอยู่กับผมจนได้ เหมือนเธอจะไม่มีที่ไป” กัมพ์รำพันถึงเจนนี่

 

“ ฟอเรสท์ ฉันป่วย ฉันติดเชื้อไวรัสที่หมอไม่มีวิธีรักษา” เจนนี่สารภาพกับเขาในเวลาต่อมา หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็สิ้นใจตาย โดยทิ้งฟอเรสท์น้อยให้เขาเลี้ยงดู

 

เมื่อย้อนอดีตไป

กัมพ์ “เจนนี่ ผมรักคุณ”

เจนนี่ “เธอไม่รู้หรอกว่า ความรักคืออะไร”

และในเวลาต่อมา

 

กัมพ์ “ถึงผมจะไม่ฉลาด แต่ผมรู้ ผมรู้ดีว่า ความรัก คืออะไร”

  

ความรักคืออะไร? แม้โลกนี้จะมีหลายคำนิยาม แต่หากความรักคือ

ห่วง หวง เข้าใจ คิดถึง และเสียสละ ชายไอคิวน้อยอย่างฟอเรสท์ กัมพ์ก็สอบผ่าน เพราะเขาบรรลุแล้วในความหมายแห่งรักแท้

 

ในขณะที่เจนนี่ผู้เคยปรามาสคนที่รักเธออย่างสุดหัวใจว่า “ไม่รู้หรอกว่าความรักคืออะไร?”  ทั้ง ๆ ที่ นี่ควรเป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับไปถามตนเองด้วยความวังเวงหัวใจ

 

เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เธอนั้นเองที่ “รักใครไม่เป็น”

 

การให้ความใกล้ชิดสนิทสนม กระทั่งยอมมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายมากหน้าหลายตานั้น เป็นเพียงการพิสูจน์ความมีค่าของตน  เป็นการพยายามลบบาดแผลทางใจที่ว่า พ่อแม่ไม่ได้รักเธอจริง

 

แม้ดูเหมือนว่า เธอมีแฟนมาแล้วมากมาย แต่เธอก็ยังโหยหาด้วยหัวใจที่แห้งแล้ง โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเธอนั้น ปิดกั้นความรู้สึกอันลึกซึ้ง อ่อนโยนและจริงใจตลอดมา

 

ก็เธอยังจะรักใครได้อย่างลึกล้ำและแท้จริงได้ ในเมื่อเธอยังไม่เห็นคุณค่า และไม่เคยรัก แม้แต่ตัวเธอเอง

 

– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –