This is Life – เธอกับฉัน ในห้วงแห่งรัก (In the Mood for Love)

ใครเคยสงสัยบ้างมั้ยว่า ทำไมคนเราจึงแต่งงานกัน? คำตอบของคำถามนี้ย่อมมีหลากหลาย แต่เหตุผลที่ทุกคนคงไม่ปฏิเสธก็คือ เพื่อหลีกหนีความอ้างว้างโดดเดียวและได้ใกล้ชิดกับคนรู้ใจ แต่คุณจะรู้สึกอย่างไร?  หากเมื่อถึงคราวครองคู่อยู่กิน คนที่เคยรู้ใจกลับทอดทิ้งให้คุณต้องว้าเหว่เหมือนวัตถุโบราณ หรือกลับสวมเขาทรยศนอกใจโดยไม่เห็นแก่ความดีที่คุณเคยกระทำมา

 

โจวมู่หวัน  (เหลียงเฉาเหว่ย)   และ  ซูไหล่เจิน  (จางมั่นอวี้)  เป็นเพื่อนบ้านข้างห้องที่บัดนี้เหมือนเพื่อนร่วมชะตากรรม  ลงเรือ  (รั่ว)  ลำเดียวกันเหตุเพราะ  เมียทิ้งและผัวห่างเหิน

 

เมื่อแรกพบ ทั้งคู่ดูว่าจะมีความประทับใจกันและกันทั้งรูปโฉมภายนอกและบุคลิกลักษณะ  แต่เมื่อต่างก็มิใช่คนโสดจึงได้แต่โอภาปราศรัยและเอื้อเฟิ้อกันด้วยมารยาทอันดี

 

ครั้นนานวันเข้าจึงได้รับรู้ซึ่งกันและกันว่า “เรามีหัวอกเดียวกัน” ซึ่งนี่คือสิ่งดึงดูดให้ทั้งสองใกล้ชิด ดูแล แชร์ความรู้สึก และผูกพันกันในเวลาต่อมา แม้จะพยายามเก็บงำ แต่ก็ไม่อาจซ่อนเร้นความในใจได้

 

โจวมู่หวัน “พักนี้ไม่ค่อยเจอคุณพี่ผู้ชายเลยนะครับ”

ซูไหล่เจิน (ท่าทีอึดอัด) “เขาไปทำงานเมืองนอกค่ะ พอกลับมาแล้วก็งานยุ่งอีก แล้วภรรยาของคุณล่ะคะ ไม่ค่อยได้เจอเหมือนกัน”  

โจวมู่หวัน (ยิ้มเศร้า) “เขาไปดูแลแม่ที่ต่างจังหวัดน่ะครับ” (เขาโกหกเพราะแท้จริงหล่อนได้ทิ้งเขาไปแล้ว)

ต่อมาเมื่อทั้งสองนัดทานอาหารกัน

ซู “ดึกแล้ว ภรรยาคุณไม่ว่าหรือ?”

โจว “ช่างเหอะ ถึงไงเธอก็ไม่สนใจผมอยู่แล้ว จริง ๆ แล้ว ตอนนี้เธอไปอยู่ญี่ปุ่น  ไม่มีกำหนดกลับ”

ซู (พูดเหมือนระบายความกลัดกลุ้ม) “เฮ้อ ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตแต่งงานจะยุ่งยากอย่างนี้ แม้เราจะอดทนทำดีเท่าไหร มันก็ไม่เคยพอ”     

อันธรรมชาติของคนเรานั้น ยามมีทุกข์ก็มักจะแสวงหาใครสักคนที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนคุยคลายทุกข์และปลอบประโลมเพื่อให้มั่นใจสบายใจขึ้น  (Protection Nurturance Approach)  

 

ดังเช่นที่ Abraham Maslow (1908 – 1970) กล่าวไว้ว่า “การได้รับความรัก  และได้รับการยอมรับ เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มิเช่นนั้นจะรู้สึกไร้ค่า อ้างว้างและเคียดแค้น คนเรานั้นต่างต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของ เพื่อไม่ให้เกิดความคับข้องใจ เกิดปัญหาในการปรับตัว เกิดความเครียด ความผิดปกติทางพฤติกรรม หรือเจ็บป่วยทางกายและทางใจ”

 

แม้จะเป็นที่พึ่งทางใจที่ไว้วางใจกัน แต่ความสัมพันธ์ของซูไหล่เจินกับโจวมู่หวันก็หาได้เต็มไปด้วยความหวานชื่นและปลอดโปร่งเช่นคู่รักทั่วไปไม่

ภายในใจของทั้งสองกลับมีแต่ความขมขื่น ด้วยรู้สึกผิด (Guilty) อยู่เสมอ  เพราะนับวันก็เหมือนกำลังเดินไปสู่หนทางแห่งการคบชู้

ซึ่งเงื่อนไขที่ทั้งคู่มีอยู่ (คือความเปลี่ยวเหงาอ้างว้าง) ย่อมทำให้ใครต่อใครเชื่อว่า เขาและเธอมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

 

ในทางจิตวิทยา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หญิงและชายนอกใจ คือการถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่เดียวดาย เหตุเพราะไม่มีอะไรมาสั่นคลอนจิตใจได้เท่ากับ การที่ใครคนหนึ่งรู้สึกเหมือนโดนทิ้งโดยไม่มีใครแคร์ หรือแม้คู่ของเราจะอยู่ใกล้ ก็ไม่ได้รับความเข้าอกเข้าใจและไม่แม้แต่จะเกิดความอบอุ่นปลอดภัย 

 

(หนทางแห่งการคบชู้ปัจจัยถัดมา ก็คือ ต้องการรสชาติที่แปลกใหม่ หาความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ชีวิตที่เรียบง่าย เช่น ผู้ชายเจ้าชู้ในหนังหลาย ๆ เรื่อง หรือตัวละครของ ไดแอน เลนใน Unfaithful และอีกข้อหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันในแทบทุกเรื่องของสามีภรรยา ยิ่งทะเลาะโต้เถียงกันก็ยิ่งเหมือนก่อกำแพงกั้นระหว่างกันให้นับวันแต่จะห่างเหิน เกลียดชังและเอือมระอากันมากขึ้นทุกขณะ)

 

สำหรับซูไหล่เจินนั้น เราคาดว่า ในอดีตเธอคงเคยชื่นชมความมีเสน่ห์ของสามีที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีเยี่ยม มีเพื่อนฝูงรักใคร่มากมาย หนำซ้ำยังมีฐานะจัดได้ว่าหรูหราเพียงพอที่จะทำให้คนรักของเขาอยู่อย่างสุขสบาย

 

แต่เมื่อถึงคราวที่ครองคู่กันแล้ว เธอก็กลับพบว่า เขามีเวลาให้เธออย่างจำกัดจำเขี่ย เหมือนต้องแบ่งเวลาให้กับงานและเพื่อนฝูง

นอกจากนั้นเธอเองก็ยังคลางแคลงใจใน “ความซื่อสัตย์ ” ของเขาตลอดมา (จนโจวมู่หวันต้องสอนวิธีรับมือกับกรณีที่แฟนนอกใจ)  

 

สามีของซูไหล่เจินเองก็คงมั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่า ก่อนที่เธอจะตกลงใจใช้ชีวิตคู่กับเขานั้น เธอย่อมรู้อยู่แล้วว่า วิถีชีวิตอิสระของเขาเป็นเช่นใดซึ่งเธอก็น่าจะทำใจและยอมรับได้ 

 

แต่ในความเป็นจริง ซูต้องทนขมขื่นอยู่เสมอ ที่เขาทำเหมือนไม่ห่วงใยกันเลยว่า  เธอจะอยู่อย่างไร? จะเจ็บไข้อย่างโดดเดี่ยว จะเหงา ว้าเหว่ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยอะไรบ้างหรือไม่? และเธอเองก็คงเคยนึกเจ็บใจ ที่ตัวเองขาดการชั่งใจก่อนจะมาร่วมชีวิตกับชายคนนี้ 

เสียใจที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่า ตนจะอยู่อย่างไรในวัยกลางคนจนถึงวัยชรา?   ในเมื่อเขายังเป็นชายรักอิสระอย่างเห็นแก่ตัวเช่นนี้

 

ทางด้านนายโจวมู่หวันก็คือ ชายช้ำรัก ผู้ต้องการที่พักพิงอันอบอุ่นปลอดภัย ลึก ๆ  แล้วเขาอยากได้คนดูแลเหมือนแม่ที่เคยเอาใจใส่เขาในวัยเยาว์  

การได้มาพบซูไหล่เจินผู้มีหัวอกเดียวกัน แม้แรกพบจะรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า 

 

แต่ต่อมา เมื่อต่างต้องการหนีไปให้ไกลจากความโดดเดี่ยว กำแพงที่ขวางกั้นทั้งคู่ไว้ก็พลันทลายลง เกิดเป็นความห่วงใย เอาใจใส่ แบ่งปันโลกส่วนตัวและร่วมรับรู้อารมณ์ส่วนลึกซึ่งกันและกัน เห็นได้จากปฏิกิริยาที่มีต่อกัน  ซึ่งล้วนแสดงว่าทั้งคู่พยายามเอาชนะความโดดเดี่ยว และความรู้สึกโดนพรากจาก เช่น ช่วยกันแต่งนิยายกำลังภายใน ซ้อมละครซ้อมร้องเพลงกัน หรือเง้างอนเพื่อให้อีกฝ่ายง้อ

 

ซู “ทำไมวันนี้คุณโทรหาฉัน?”

โจว “ผมแค่อยากได้ยินเสียงคุณ”

 

วันต่อมา

 

ซู “ทำไมวันนี้คุณไม่โทรหาฉัน”

โจว “ก็ผมไม่อยากรบกวนคุณ” 

ซู “ฮึ ! งั้นไม่ต้องโทรมาอีกเลยก็ได้” 

 

เมื่ออยู่ในห้วงรักที่นับวันก็ยิ่งสนิทเสน่หา  ที่สุดแล้วทั้งคู่ย่อมต้องการเป็นของกันและกัน  แต่เส้นศีลธรรมและกฏเกณฑ์ของสังคมทำให้ต้องยับยั้งใจตลอดมา จนกระทั่ง

 

ซู “ทำไมคุณต้องไปด้วย?”

โจว “เพื่อนผมที่สิงคโปร์ไม่มีคนช่วย แล้วผมก็ไม่อยากเป็นขี้ปากชาวบ้าน”

ซู “เราทั้งคู่ก็รู้กันดีนี่นาว่า เราแค่คบกัน ไม่มีอะไรกัน” 

โจว (ถอนใจ) “จริง ๆ แล้ว ผมรู้ดีว่า ยังไงคุณก็หย่าไม่ได้ ผมเลยขอจากไปดีกว่า”

 

ครั้นถึงถึงคราวต้องพลัดพราก ทั้งสองจึงได้รู้ใจตัวเองว่า ต้องการกันและกันมากมายเพียงใด เธอร่ำไห้ เขาตระกองกอดปลอบโยน “คืนนี้ฉันไม่อยากกลับบ้าน” ซู

 

โดยทั่วไปแล้ว คนที่มีชีวิตแต่งงานอันน่าพึงใจและปกติสุขนั้น น้อยคนนักที่จะคบชู้ แต่หากเธอก้าวข้ามเส้นศีลธรรมไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น โดยมากแล้วก็ไม่ใช่แค่ความฉาบฉวยที่หวังเพียงความตื่นเต้น แต่เธอมีทั้งความรักความผูกพันทางจิตใจให้แก่เขาโดยสมบูรณ์แล้ว

 

In  The Mood For Love  เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่นำคุณกลับสู่บรรยากาศของปี 1960 และบทเพลงของแน็ตคิง โคล อย่าง  Aquellos  Ojos  Vedes กับ  Quizas, Quizas, Quizas ที่ยังมีมนต์ขลัง

 

1960 คือ ยุคสมัยอันมีเสน่ห์ในความรู้สึกของผู้กำกับหว่องกาไว เป็นยุคแห่งความแช่มช้าทว่างดงาม ดังที่เขากล่าวไว้ว่า  “ตอนนั้นแดดกระจ่างใสกว่านี้  อากาศสดชื่นกว่านี้ เสียงเพลงล่องลอยไปตามถนน เป็นความรู้สึกดี ๆ ที่เหมือนฝัน มันน่าจะเป็นความฝันได้เลยด้วยซ้ำ” (สำนวนแปลของสุทธากร สันติธวัช ในหนังสือ เดียวดายอย่างโรแมนติค)

 

นอกจากนั้น  In the Mood For Love  ยังทำให้เราได้เห็นทัศนะของผู้หญิงยุคก่อนที่ยังยึดมั่นในความภักดีและเคร่งเครัดในกรอบกฎเกณฑ์ของสังคมแม้ว่าจะต้องหน้าชื่นอกตรมขมขื่นไปชั่วชีวิต

 

ในขณะที่ยุคนี้ ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วทรมานใจ จะทนอยู่ไปทำไม?

 

– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –