This is Life : รักเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย (Love Actually)

 

ทารกในครรภ์ถูกโอบล้อมอย่างนุ่มนวลด้วยทุกอณูของเนื้อเยื่อภายในกายของแม่ เสียงเต้นตุ้บ ๆ ของจังหวะหัวใจ  เสียงโครกครากภายในท้อง และเสียงพูดของแม่คือความคุ้นชินที่แสนอบอุ่นและปลอดภัยในความรู้สึก สภาพไร้น้ำหนักในครรภ์นั้นทำให้ซึมซับกับเสรีภาพ ที่จะล่องลอยเหมือนปลา หรือโบยบินเหมือนนก 

 

แต่แล้ววันหนึ่ง อาณาจักรอันไพศาลของเขาก็กลับหดแคบลง …หดแคบลงทุกขณะ ผนังภายในกายของแม่นับวันก็บีบรัดยิ่งขึ้นทุกทีทุกที กระทั่งเขาจำต้องก้มหน้าและขดตัวอย่างยอมจำนน แต่ในที่สุดก็กลายเป็นความเพลิดเพลิน เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับจังหวะแห่งการรัดบีบสลับการผ่อนคลายที่มาเป็นระลอก ๆ

และแล้วไม่นาน การพรากจากที่แสนทุกข์ทรมานก็มาถึง ทุกสิ่งเหมือนโดนระเบิดจนแหลกเป็นจุณ แสงไฟแรกที่กระทบเข้าตาเมื่อแรกคลอด มวลอากาศแรกที่สุดเข้าทางจมูกและปาก คือความร้อนทุรนดังเพลิงนรก

 

เสียงร้องจ้าของทารกน้อย มันคือ ความหวาดกลัว โกรธเกรี้ยว ปวดร้าว เหตุเพราะพรากจากความอบอุ่น สุขสบาย และปลอดภัยในครรภ์มารดาผนวกกับกระบวนการ “ช่วยคลอด” ที่ทรมานทุลักทุเล

 

ดังนั้น การปลอบโยน โอบอุ้ม เห่กล่อม ถนอมรัก จึงเป็นสิ่งสุดปรารถนาของมนุษย์ทุกเพศวัย ตั้งแต่แรกคลอดยันแก่เฒ่าใกล้เข้าโลง

 

I feel it in my fingers


I feel it in my toes


Love is all around me


And so the feeling grows

 

It’s written on the wind


It’s everywhere I go


So if you really love me


Come on and let it show 

 

– เพลง Love Is All Around เพลงประกอบภาพยนตร์ Love Actually

 

“บางคนบอกว่า โลกนี้มีแต่ความโลภและความชิงชัง แต่ผมไม่เห็นด้วยครับ จริง ๆ แล้วความรักมีอยู่ในทุกหนแห่ง แม้จะไม่สง่างาม แต่โลกนี้…มีความรักเสมอ” – พระเอกอารัมภบทช่วงเปิดเรื่อง

 

เห็นด้วยครับ ความรักมีในทุกหนแห่ง โลกนี้ดำรงอยู่ได้จนบัดนี้เพราะยังมีความรัก ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นนายกรัฐมนตรีหรือวณิพกก็ล้วนแล้วแต่ปรารถนาในรัก ต้องการเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ความรัก

 

รักเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่พรากจากขาดหาย เพื่อลบรอยความกลัวการแยกจาก ซึ่งฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกที่ก่อตัวมาตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ แม้มนุษย์จะเป็นสัตว์โลกที่เต็มไปด้วยเหตุผลและจินตนาการอันกว้างขวางและล้ำลึก ซ้ำยังต้องการอิสรภาพอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันนั่นก็ทำให้เขาต้องทุกข์รันทดจากความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ในโลกนี้ (โดยมาก) จึงไม่มีใครอยาก “อยู่คนเดียว” แต่จะเป็นสุข และรู้สึกมั่นคงปลอดภัยหากได้อยู่กับคนรักหรือแวดล้อมไปด้วยญาติสนิทมิตรสหายที่รักและเข้าใจกัน

 

อิริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) จึงแนะให้คนเรามุ่งสานสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์ (Productive Love) โดยมอบความจริงใจไมตรี และเอื้ออาทรต่อกัน

 

ในขณะที่ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) กล่าวว่า คนเราต้องการให้ตนอิ่มปากอิ่มท้องซะก่อน มีที่ซุกหัวนอน ไม่เจ็บไม่ป่วยและอยู่อย่างปลอดภัย จึงจะพร้อมที่จะรักใครหรือเปิดใจให้ใครมารักอย่างสบายอกสบายใจ

 

ส่วน อิริคสัน (Erik Erikson) เน้นเรื่องพัฒนาการของวุฒิภาวะในแต่ละขั้นตอน (วัย) ของชีวิต โดยมีทัศนะว่า เด็กน้อยที่ได้รับความรักความเอาใจใส่จากแม่หรือผู้เลี้ยง อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการรู้จักรักและไว้วางใจผู้อื่น หาไม่แล้วยากนักที่เขาจะมีเยื่อใยไมตรี และมีความรักกับใครต่อใครอย่างจริงจัง 

 

[ รักเพื่อโหยหาความผูกพันอันลึกซึ้งเหมือนครั้งยังเยาว์ ]

 

เพราะความอบอุ่นสุขสบาย อิ่มอกอิ่มใจที่ได้รับจากพ่อและแม่ในยามเป็นเด็กนั้น แม้จะขาดหายไปนานแล้ว แต่ความประทับใจยังไม่เลือนหาย หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยได้รับ ก็ยังอยากให้ความฝันนี้เป็นความจริง นี่เป็นเหมือนการถูกวางเงื่อนไข เช่นเดียวกับการกดกริ่งทุกครั้งที่จะให้อาหารสุนัข ครั้นกระทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ หน ต่อมาเพียงแค่กดกริ่ง เจ้าสุนัขตัวนั้นก็จะน้ำลายสอทั้งที่ยังไม่ปรากฏอาหารให้เห็นเลยแม้แต่น้อย (จากทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสิกของ Pavlov นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย) 

 

นอกจากนั้นยังมีทฤษฎี “ความรักคือสัญชาตญาณ” ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากนักจิตวิทยาหลายสำนัก โดยเชื่อว่า การสัมผัสของแม่ที่เปี่ยมด้วยเมตตาและอบอุ่นก็ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นสัญชาตญาณแห่งความรักให้ทารกน้อยได้ซาบซึ้งและรู้จักแสดงออก

 

ดังเช่นการทดลองสุดคลาสิกอีกชิ้นหนึ่ง (Horlow 1959) ที่จับเจ้าลูกลิงให้อยู่กรงเดียวกับแม่เทียมที่เป็นหุ่นรูปลิง  2 ตัวเป็นเวลา 165 วัน ทุกครั้งที่ลูกลิงหิวมันจะกระโดดเกาะและดูดนมจากแม่เทียมที่ทำด้วยขดลวดแต่ถือขวดนม โดยใช้เวลาดื่มนมไม่ถึง 30 นาทีจากนั้นมันก็จะวิ่งไปโอบแม่ลิงเทียมที่ทำด้วยผ้าชนหนูนุ่มๆทันที โดยใช้เวลาคลุกอยู่กับแม่นุ่ม ๆ ตัวนี้ถึงวันละกว่า 16 ชั่วโมง 

 

ยิ่งแม่ลิงสามารถโอบอุ้มเห่กล่อมมันได้ เจ้าลิงน้อยก็ยิ่งเกาะไม่ปล่อย

 

ความรักนั้นมีอยู่ทุกหนแห่งก็จริง แต่โดยมาก “รักแท้มักแพ้ใกล้ชิด” คนอยู่ใกล้กันโอกาสชื่นชมสนิทสนมกันย่อมมีมากกว่าคนที่อยู่ห่างไกลกว่า ดังเช่นใน Love Actually ที่นายกรัฐมนตรีหมาด ๆ ถูกตาต้องใจแม่บ้านหน้าห้อง หนุ่มนักเขียนหลงรักสาวรับใช้โปรตุเกส หรือรักในออฟฟิศระหว่างหนุ่มแว่นสุดหล่อกับหญิงสาวผู้วนเวียนอยู่กับการรับโทรศัพท์จากพี่ชายขี้โรค ซึ่งก็ตรงกับการศึกษาของนักจิตวิทยาหลายสำนัก เช่น Festinger , Schacter , Back 1950 ที่พบว่า คนที่พักอาศัยอยู่ใกล้กันมักมีโอกาสเกิดมิตรภาพและความรักมากกว่าคนที่อยู่ห่างกันออกไป (คู่รักชาวฟิดาเดลเฟีย  5 พันคู่ มีถึง 1 ใน 3 ที่ก่อนจะพบรัก ได้เคยอาศัยอยู่ใกล้กับคู่รักของตนห่างกันไม่ถึง 5 ช่วงตึก)

 

เหตุผลที่เดาได้ไม่ยากก็คือ การเจอะเจอกันบ่อย ๆ จะทำให้ค่อย ๆ รู้จักรู้ใจกัน ยิ่งมีปฎิกิริยารักแรกปิ๊งด้วยแล้ว ก็มักไม่ต้องควานหาให้เหนื่อยแรง จีบคนอยู่ใกล้โอกาสจะสานสัมพันธ์ถักทอสายใยแห่งรักจึงมีสูงกว่าพวกไกลตา-ไกลใจ ที่มักได้กินแต่แห้ว

 

– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –