This is Life – เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวด (Message in A Bottle)

“แคเทอรีนที่รัก วันนี้ฉันหลงทาง หลงทางเพราะสูญเสียเธอไปแล้ว ดาวเหนือของฉัน เมื่อคืนฉันฝันว่า พระเจ้าทรงประทานคืนเธอมาให้ เพื่อให้ใจของฉันสงบเสียที แต่เมื่อตื่นขึ้น ความสงบนั้นก็หายไป ฉันอยากมีจิตใจสงบเช่นในฝันนั้น …ตลอดกาล…” – นี่คือบันทึกรักของ “กาเรตต์” หนุ่มชาวเล ที่ส่งให้แก่คนรัก  แม้ว่าเธอจะตายจากไปแล้ว

 

ทุกคืนวันอันเศร้าหมองของเขา หมดไปกับการโหยหาอาลัย แม้ว่าบัดนี้ ยังมีหญิงสาวผู้เพียบพร้อมด้วยความงดงามทั้งกาย และใจที่ยินดีจะเป็น “ดาวเหนือ” เพื่อให้หัวใจของเขาสดชื่นสว่างไสวขึ้นอีกครั้ง

 

“เทเรซา” นักวิจัยสาวสวยแห่ง นสพ.ชิคาโกทรีบูน เจ้าของรอยยิ้มสดใส เธอเกิดมาในครอบครัวอบอุ่น คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างของความรักความผูกพันอันมั่นคง

 

แม้เมื่อยามที่คุณพ่อตายจาก ความรักความอาลัยที่คุณแม่มีก็ไม่เคยลบเลือน เสื้อโค้ดของพ่อยังคงพาดอยู่ที่เก้าอี้ตัวโปรดตลอดมา คุณแม่ต้องการให้อยู่อย่างนั้น เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า คุณพ่อไม่ได้จากไปไหน ในความรู้สึกของเธอ

 

แต่เมื่อเทเรซาแต่งงาน เธอจึงได้รู้ว่าชีวิตรักนั้นมิใช่ว่าจะหนักแน่นมั่นคงเสมอไป เมื่อจับได้ว่าสามีนอกใจ ทั้งที่เมื่อคืนเพิ่งปรึกษากันเรื่องจะมีลูกอีกคน

 

แม้กระนั้น ด้วยพื้นฐานอันอบอุ่นในวัยเยาว์ เธอจึงยังเปี่ยมด้วยพลังใจ ยังหวัง และยังศรัทธาในรัก

และแล้ว เธอ (เทเรซ่า) และ  เขา (กาเร็ตต์) ก็พบกันจนได้

“ฉันชอบเรือไม้เก่าแก่ค่ะ”

“แต่สภาพมันแย่มากนะครับ”

“ทำไมหรือคะ?”

“มันถูกทอดทิ้ง  ไม่มีใครสนใจ”

 

เทเรซ่า…สาวกรุง (ค่อนข้าง) เปรี้ยว ปราดเปรียว สดใส ช่างเจรจา เป็นมิตรกับใคร ๆ

กาเร็ตต…หนุ่มชาวเล(ค่อนข้าง)ขี้อาย พูดน้อย ดูเศร้า เก็บตัวแต่สงบ และอบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้

 

ดู ๆ แล้วช่างต่างกันเหลือเกิน แทบไม่น่าเชื่อว่าทั้งคู่จะ “คลิ้ก” กันได้ หากแต่เป็นไปได้ ที่คนเราจะอยากคบ อยากรักคนที่มีบุคลิกที่ต่างกับตนเอง เพราะต่างก็ชื่นชมในสิ่งที่อีกฝ่ายมี เหมือนการมาเติมเต็มในสิ่งที่ตนเองขาด

 

“ฉันขอโทษ ที่ไม่ได้เอาใจใส่เธอเท่าที่ควร ขอโทษที่เคยทะเลาะกับเธอ และขอโทษที่หากว่า ถ้าฉันกอดเธอให้แน่นกว่านี้ พระเจ้าคงฉุดเธอไปจากฉันไม่ได้”   

 

ถ้อยคำรันทดในจดหมายอีกฉบับถึงแคเทอรีน สะท้อนถึงความโกรธ-โทษตัวเอง (Anger &  Guilt) ของกาเร็ตต์ ที่กว่า 2ปีแล้วก็ยังปลงไม่ตก ทั้งยามที่อยู่ใกล้เทเรซ่าก็ยังรู้สึกผิด “ผมรู้สึกว่าเขายังอยู่ที่นี่ ผมไม่อยากทำร้ายเขา และไม่อยากเอาเปรียบคุณ”

 

หรือ “อันที่จริง ผมอยากให้ทุกอย่างง่ายกว่านี้ อยากให้ผมเองสบายใจกว่านี้” หรือแม้แต่ร้องไห้เมื่อคิดถึงภรรยา ต่อหน้าเทเรซ่าในห้องนอนของเธอ

 

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าแคเทอรีนนั้นอยู่คนละโลกกับเขาแล้ว แต่จิตในส่วนมโนธรรม (Super Ego) ยังคอยตวาดเตือนเขาอยู่เสมอ “กาเร็ตต์! ถ้าแกปลงได้เมื่อไหร่ ก็แปลว่าแกทอดทิ้งแคเทอรีน ซึ่งนั่นหมายถึงแกจะเป็นคนเห็นแก่ตัว ขาดความรับผิดชอบ และเลวมาก!”

 

สิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนก็คือ สิ่งที่เห็นภายในบ้านของกาเร็ตต์ โดยเฉพาะ…ในห้องส่วนตัวของแคเทอรีน สิ่งของของเธอทุกอย่างยังอยู่ครบถ้วน โต๊ะ..เก้าอี้..โคมไฟ…รูปวาด..จานสี..อุปกรณ์วาดรูปทั้งหลาย แม้แต่…รองเท้าผ้าของเธอคู่นั้น ก็ยังอยู่ที่เดิม

 

2 ปีแห่งการสูญเสีย แทนที่เขาจะเข้าใจชีวิตลึกซึ้งขึ้น มีภูมิต้านทานในจิตใจมากขึ้น กลับรู้สึกหมดอาลัยตายอยากลงทุกวันมีแนวโน้มว่าจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า กระทั่งโรคทางกายรุมเร้า (อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไปจนถึงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ) หรือแม้แต่เกิดอาการประสาทหลอน (Hallucination) หรือ หลงผิด (Illusion) (ซึ่งมีอยู่ฉากหนึ่งที่หนังได้สะท้อนให้เห็น) และมีโอกาสตรอมใจตายได้ในที่สุด

 

อะไรเป็นสาเหตุให้กาเร็ตต์ปลงไม่ตกและกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

 

หนังซ่อนเร้นความสัมพันธ์ระหว่างกาเร็ตต์กับแม่ไว้อย่างมิดชิด เมื่อกาเร็ตต์นึกถึงผู้หญิง 2 คนในชีวิต ก็จะมีเพียงแต่แคเทอรีน และเทเรซ่าเท่านั้น ทำให้พอจะเห็นได้ว่า  

 

1) ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ น่าจะไม่อบอุ่นนัก ภาพลักษณ์ของแม่คงจะไม่ค่อยดีในความรู้สึกของเขา

 

2) ชีวิตวัยเด็ก คงเติบโตมาท่ามกลางเสียงด่าทอของพ่อกับแม่ เนื่องจากคุณพ่อดื่มจัด และคงขัดแย้งกับแม่เป็นประจำ เช่น ในฉากพ่อตัดผมให้ลูกชายวัย 40 กว่า และพ่อลูกก็คุยกันว่า “แกเจอแม่บ้างมั้ย?” “ก็แค่คุยกันทางโทรศัพท์ แม่เขายังเกลียดพ่ออยู่น่ะ”

 

3) เมื่อเกิดศึกภายในบ้านครั้งใด กาเร็ตต์ก็คง “เข้าข้างพ่อ” มากกว่าสงสารพ่อมากกว่า แม้พ่อจะขี้เมาหยำเป แต่อบอุ่นเอื้ออาทรกว่าแม่

 

4) และสุดท้ายก็คือ “บ้านแตก” “ แม่พาผมไปด้วยตอนผม 10 ขวบ พออายุ 16 ผมกลับมาอยู่กับพ่อ ผมชอบชีวิตที่นี่มากกว่ามันสงบ มีสายน้ำไหล จริง ๆ แล้ว ผมคิดถึงพ่อครับ พ่อของผมเป็นคนดี”

 

สรุปก็คือ บรรยากาศของครอบครัวในวัยเยาว์ หล่อหลอมให้กาเร็ตต์เป็นคนมีบุคลิกช่างวิตก กลัวการแยกจาก ชอบตำหนิตนเอง และเก็บกด

 

“แกเลือกเอา…วันวานหรือพรุ่งนี้ เลือกแล้วจงอยู่กับมัน”

 

บุคลิกแบบนิยม “แบกอดีต” ไม่ยอมปล่อยวาง และความรู้สึก “สองจิตสองใจ” (Ambivalence) คือสิ่งที่มีอยู่ในตัวกาเร็ตต์เสมอมา

 

ในที่สุด พระเอกของเรากำลังจะ “เลือก” อยู่แล้ว  หนังกลับปิดทางเลือกซะนี่ ! จึงทิ้งไว้ให้สงสัยต่อว่า กาเร็ตต์อาจเลือกไปอยู่กับแคเทอรีน (ในอีกโลกหนึ่ง) โดยการทำลายตัวเอง (อย่างไม่รู้ตัว)  

 

แต่ถึงอย่างไรก็ดูจะเป็นการ “จงใจใจรัาย” กับคนดูมากไป  โดยเฉพาะกับคุณพ่อด็อดจ์ น้ำตาของพ่อที่ต้องสูญเสียลูกชายคนเดียวที่มีอยู่ หากใครได้ดูคงจำฉากที่คุณพ่อด็อดจ์ขับรถไปส่งลูกชายที่ท่ารถได้ แววตาของพ่อที่มองลูกชายบอกถึงความห่วงใยและเอ็นดู (แม้ว่าลูกขายจะอายุ 40 กว่าแล้ว) และฉากพ่อลูกเหน็บกันแรง ๆ ที่หน้าร้านกาแฟ “แกเป็นสิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่ฉันยังเหลืออยู่”

 

“น้ำตาของคนแก่ คือ ใบไม้กรอบแห้งที่ปลิวร่วงหล่น

น้ำตาของคนแก่ คือ ส่วนที่เหลือของชีวิตในร่างที่ทรุดโทรม” 

– คาริล ยิบราน

 

ชีวิตก็เหมือนเรือ ตลอดการเดินทางจะไม่มีเพียงท้องทะเลที่ราบเรียบ คลื่นลมที่สงบ แต่….ทะเลบ้า พายุหมุน คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ กัปตันจึงควรหมั่นดูแลลำเรือ (สุขภาพกาย) และควรหมั่นตรวจตราเครื่องยนต์ (สุขภาพใจ) ให้สมบูรณ์พร้อมอยู่เสมอ

 

ชีวิตก็เหมือนคลื่นลม คลื่นทะเล…ผ่านไปแล้วก็จะไม่ย้อนกลับมาอีก ชื่นชมกับชีวิต ณ ขณะนี้ และทำวันนี้ให้ดี นอกจากอนาคตของเราจะดีแล้ว อดีตของเราจะดีด้วย เพราะ “วันนี้” เพียงชั่วครู่ ก็จะกลายเป็น “วันวาน” ไปแล้ว

 

– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –