This is Life – รักแท้ไม่มีวันตาย (What Dreams May Come)

เกิดอะไรขึ้นกับ “แอนนี่และคริส” ทันทีที่สูญเสียคนที่รักที่สุดในชีวิต (ลูกทั้งสอง) อย่างกระทันหัน  ?

 

 

ขั้นที่ 1 “ช็อค”

ตั้งแต่นาทีแรก ถึง 20 นาที (หรือมากกว่า 1 ชั่วโมงในบางราย) มีอาการชาไปทั้งตัว รอบกายเหมือนไม่มีอากาศหายใจ โลกทั้งใบดูหนักอึ้งไปหมด หน้ามืด แขนขาหมดเรียวแรง เข่าเริ่มอ่อน รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน เจ็บปวดที่ใจ เริ่มร้องไห้ บางรายไม่ร้องไห้ แต่กดไว้โดยกลไกทางจิต “ปิดกั้น -ปฏิเสธ” (Denial)

 

ขั้นที่ 2 “ฉันไม่เชื่อ”

มันไม่จริง นี่ฉันคงฝันร้าย นี่มันโลกของความฝัน อย่าให้เป็นเรื่องจริงเลย เพราะฉันยังทำใจไม่ได้

 

“ลูกรัก เรายังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ เจ้าสัญญากับพ่อแล้วไงว่า เราจะลุยไปข้างหน้าด้วยกัน อีกไม่กี่ปี เจ้าก็จะเป็นชายหนุ่มเบญจเพศที่สง่างาม สุภาพ และสำเร็จการศึกษาสูงสุด แล้วนี่ เจ้าจะทำอย่างนี้กับพ่อได้ลงคอเชียวหรือ? ไม่มีทาง ไม่มีทางแน่ ๆ” (ในหัวจิตหัวใจของคริส ผู้เป็นพ่อ)

 

“ตั้งแต่วันพรุ่งนี้  แม่จะไม่ให้งานบ้า ๆ มาสำคัญกว่าลูก ๆ แม่จะขับรถไปส่งหนูทั้งสองคนเองทุกเช้า  ใช่จ้ะ ! ส่งทุกเช้าอย่างปลอดภัย ให้โอกาสแม่นะ ให้โอกาสอีกครั้งนะ” (ในห้วงคิดคำนึงของแอนนี่ ผู้เป็นแม่)

 

ภาวะความโกรธ (Anger) ความรู้สึกผิด (Guilt) จะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในอยู่ในขั้นที่สองนี้

 

ข้าวของทุกอย่างที่เป็นของลูก (หมวกของลูก ตุ๊กตาเสือน้อยของลูกสาว) จะวางอยู่ที่เดิม เมื่อทุกอย่างยังอยู่ เมื่อของที่ลูกรักลูกหวงยังอยู่ สักวันลูกกลับมา (นี่คือความเป็นไปไม่ได้ ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ยังไม่ยอมรับความจริง) 

 

ขั้นที่ 3 “เริ่มยอมรับความจริง”

ไม่ว่าจะคร่ำครวญอย่างไร จะโกรธโทษตนเองแค่ไหน ก็ไม่มีทางได้ลูกรักกลับคืนมา ทุกสิ่งที่เป็นของลูก ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ  ของใช้ ของเล่น ฯลฯ จะเริ่มถูกเก็บเข้ากล่อง (เพื่อลดความเจ็บปวด)

 

ชีวิตที่ยังอยู่ก็ยังต้องสู้ต่อไป วันคืนที่ผ่านมาของลูก ๆ คือสิ่งที่ดี งดงาม และจะอยู่ในหัวใจของพ่อตลอดไป

 

ขั้นที่ 4 “ปรับตัว ปรับใจ”

เริ่มดูแลตัวเอง ที่กินไม่ได้ก็เริ่มรู้รสชาติอาหาร ที่นอนไม่หลับก็เริ่มหลับสนิทขึ้น (เช่นที่คุณหมอคริส เริ่มตระหนักว่า ยังมีคนไข้ผู้ทุกข์ยาก เด็ก ๆ ที่น่าสงสารกำลังรออยู่)

 

คุณหมอคริสผู้อยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นผู้มีความเข้มแข็งกว่าภรรยา ทำให้คุณหมอได้ผ่านขั้นตอนของการเผชิญความสูญเสียได้อย่างปกติ (Normal Grief)

 

แต่แอนนี่ล่ะ? คุณแม่ผู้อ่อนหวานและอ่อนไหว เธอคือจิตรกรผู้รักในศิลปะยุคศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคที่มีความเชื่อเรื่องของโลกหลังความตาย สรวงสวรรค์ และขุมนรก เคยมีผู้วิจัยไว้ว่า แม้แต่ความฝันของศิลปินทั้งหลายยังงดงาม และสยองขวัญกว่าคนทั่วไป

 

แอนนี่เปราะบาง ไม่เข้มแข็งพอที่จะฝ่าด่านไปถึงขั้นที่ 3 เธอยังคงจมลึกอยู่ในขั้นที่ 2 คือเผชิญกับความสูญเสียอย่างไม่ปกติ (Pathological Grief) ยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรความคิดซ้ำซากของความรู้สึกผิด โกรธ โทษตัวเอง ไร้ค่า ซึมเศร้า รู้สึกผิดมากขึ้น โกรธ โทษตัวเอง

ความคิดแสนทรมานเช่นนี้ เป็นเหมือนเจตนาที่จะลงโทษตนเองโดยจิตไร้สำนึก “ขอให้ฉันได้รับความทุกข์ทรมานอย่างเต็มที่เถิด เพื่อเป็นการไถ่บาป เพื่อจะได้ลูกรักของฉันคืนมา”

 

ทั้งที่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้ ความโกรธจึงทวีมากขึ้น ความรู้สึกผิดทั้งปวงจึงพุ่งเข้าหาตัวเอง ส่งผลให้เธอต้องหาทางออกที่ไม่ปกติ 2 ประการ

 

1)  ทำร้ายตัวเอง เธอกรีดแขนและหวังฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่ไม่สำเร็จ

2) ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ไยดีกับตัวเองอีกต่อไป แต่จมอยู่กับโศกเศร้า เลื่อนลอย จนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ก็เพราะได้พลังใจจากสามีสุดที่รัก (อันเป็นสิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่เธอเหลืออยู่) เขาต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดกว่าจะฉุดรั้งเธอ ก่อนจะจมดิ่งลงไปกว่านี้ 

 

แอนนี่ผู้อาภัพ 4 ปีก่อนเพิ่งสูญเสียลูกทั้งสอง แต่บัดนี้สามีอันเปรียบเหมือนดวงใจต้องตายจากอย่างกระทันหัน บัดนี้เธอไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว ไม่มีพลังใจจากใครอีกแล้ว จะหวังอะไรได้อีกในสังคมอันเปลี่ยวเหงา และไร้ญาติขาดมิตร เธอจึงกระทำสิ่งที่น่าสลดที่สุดในขณะตกอยู่ในภาวะที่เปราะบางเป็นอย่างยื่ง

 

ดูแลหัวใจให้เป็นสุข

อย่าให้ความทุกข์ใดมากรายกล้ำ

แม้ฟ้าวันนี้  เป็นสีดำ

พรุ่งจะนำรุ้งทองมาคล้องใจ

พระเจ้าอาจทดสอบความเข้มแข็ง

อย่าอ่อนแรงอดสู  จงสู้ใหม่

คงไม่ยากหากก้มหน้ายอมปราชัย

แต่มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ จะไม่แพ้

 

จาก  ถอดรหัสฆ่าตัวตาย โดย คุณอิสรา

 

– ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ –