ความเหงา = ความเจ็บป่วยของสังคม
หลายคนอาจคิดว่า “ความเหงา” เป็นอารมณ์ชั่ววูบ แต่แท้จริงแล้ว “ความเหงา” เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงความเหงา ถือเป็นความเจ็บปวดทางสังคม ส่งผลร้ายต่อร่างกายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน หรือการติดแอลกอฮอล์
นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ ที่กลายเป็นภาพชินตาตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่จะเห็นคนอายุมากกว่า 60 ปี ทำกิจกรรมต่างๆ เพียงคนเดียว อย่างในประเทศญี่ปุ่น ก็มีรายงานว่า พบผู้สูงอายุเสียชีวิตเพียงลำพังเฉลี่ยแล้ว 4,000 คนต่อสัปดาห์
ผลการสำรวจในออสเตรเลียรายงานว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศรู้สึกเปลี่ยวเหงา เช่นเดียวกับ 13.71% ของคนในสหราชอาณาจักร มีงานวิจัยจากประเทศอังกฤษรายงานว่า ความเหงา ยังส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะความเหงา ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนลดลง และส่งผลให้คนขาดงานมากขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยยังบอกอีกว่า ความรู้สึกเหงาอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่โรคซึมเศร้า, โรคอ้วน และอัลไซเมอร์ได้ ทำให้รัฐบาลมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เฉลี่ยแล้ว เกือบ 3,000,000 บาท (6,000 ปอนด์) ต่อคน
“ความเหงา” เป็นมากกว่าความรู้สึกส่วนตัว ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหงากำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติ
อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลของ Teresa May ได้แต่งตั้ง Tracey Crouch ให้เป็นรัฐมนตรีดูแลปัญหาความเหงา (Minister of Loneliness) แนวคิดการจัดตั้งหน่วยงานรัฐเพื่อรับมือกับ “ความเหงา” ของประชาชนอังกฤษ เริ่มขึ้นในปี 2016 โดย Jo Cox สส.จากพรรคเลเบอร์ ในรัฐบาลของ David Cameron ก่อนที่เธอจะถูกฆาตกรรมในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ถึงอย่างนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ตัดสินใจสานต่อโครงการนี้
Tracy Crouch มีหน้าที่ในการดูแลยุทธศาสตร์ชาติด้านการแก้ปัญหาความเหงา เป้าหมายของรมต.กระทรวงความเหงาคือทำให้คนอังกฤษได้พบปะ พูดคุย และสร้างความสัมพันธ์กันมากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่การแชททางออนไลน์
“จริงๆ แล้วจะเรียกดิฉันว่าเป็นรัฐมนตรีแห่งความสุขก็ได้ไม่ต่างกัน เพราะนี่คือเป้าหมายที่ดิฉันต้องการไปให้ถึง” Tracy กล่าว
นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษยังมีโครงการจากหน่วยงานเอกชนที่ชื่อ The Campaign to End Loneliness หน่วยงานนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2011 เพื่อให้ปรึกษาและผลักดันนโยบายแก้ปัญหาความเหงาไปสู่รัฐบาล (ซึ่งพวกเขาทำสำเร็จไปแล้ว)
การมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างคือหัวใจของความสุข
นี่คือบทสรุปจากงานวิจัยของ Harvard Study of Adult Development ที่ใช้เวลาถึง 78 ปีในการสำรวจพฤติกรรมมนุษย์ ด้วยเหตุนี้การขาดความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง คือต้นตอของความทุกข์
บนโลกที่การสื่อสารกับคนอื่นง่ายแค่ปลายนิ้ว ไม่ได้แปลว่าคนเราจะไม่รู้สึกเหงา ตราบใดที่ความสัมพันธ์ที่เราอยากจะมี ไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่เราพบเจอในทุกๆ วัน “ความเหงา” ก็จะยังคงอยู่
และนี่จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐมนตรีแห่งความเหงาของอังกฤษ ที่จะให้คนได้มีความสัมพันธ์แบบที่พวกเขาต้องการได้จริงๆ