บทเรียนจากความเหงา

“ความเหงา” เป็นความรู้สึกว่าตัวเองอยู่คนเดียว แปลกแยกกับสิ่งรอบตัว สมองของเราสร้างความเหงาเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าเราต้องเติมความต้องการทางสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัย

ถึงอย่างนั้น จากการศึกษาด้านจิตวิทยา ทำให้เรารู้ว่า ความเหงามีหลายประเภท เช่น ความเหงาทางความสัมพันธ์, ความเหงาทางสังคม, ความเหงาทางความแตกต่าง, ความเหงาทางความรู้คิด, ความเหงาทางจิตใจ และ ความเหงาทางความตาย ความเหงาแต่ละประเภท มีสาเหตุแตกต่างกัน และแน่นอนว่ามีวิธีการแก้ต่างกัน การบอกว่าเหงาก็ไปหาเพื่อนคุย หรือให้ไปหาอะไรทำ อาจไม่ใช่คำตอบที่ตรงจุดในทุกกรณี 

นอกจากนี้ คนที่มีอาการเหงาอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีปัญหาเวลาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ จำเป็นต้องใช้เวลาและความช่วยเหลือจากคนอื่นเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อดูจากผลสำรวจเรื่องความเหงา พบว่ามีข้อมูลหลายอย่างน่าสนใจ เช่น คนวัย 16-24 เป็นช่วงอายุที่รู้สึกเหงามากที่สุด ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับ คนโสด คนเป็นม่าย ผู้ป่วย และคนที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง มีแนวโน้มที่จะเหงามากกว่ากลุ่มอื่น

เช่นเดียวกับเรื่องฐานะ การมีเงินไม่มากพอทำให้เครียด และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต กระนั้น คนมีฐานะดีกลับรู้สึกเหงาไม่น้อยเลยทีเดียว ผลสำรวจของ Boston College สรุปออกมาว่าคนรวย (ผู้ที่มีทรัพย์สินเฉลี่ยที่ 78 ล้านเหรียญขึ้นไป) หลายคนรู้สึกเหงา เพราะฐานะอันมั่งคั่ง ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคนที่มีฐานะต่ำกว่า (ซึ่งเป็นส่วนมากบนโลกใบนี้) ได้ ทำให้พวกเขามักจะจับกลุ่มกับพวกคนที่มีฐานะดีกว่า และนั่นทำให้พวกเขารู้สึกกังวล ไม่มั่นใจตัวเองอยู่ตลอด

ความเหงา…. แก้ได้

ส่วนการแก้ปัญหาความเหงานั้น วชิรวิทย์ คงคาลัย ได้เสนอเอาไว้ในบทความชุด ทำไมเราถึงหว่องกันนักนะ: ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่ ดังนี้

1. ช่วยเหลือด้านจิตวิทยาให้กับคนที่มีปัญหาความเหงามายาวนาน ให้เขากลับเข้ามาสู่แวดวงสังคมได้

2. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว

3. ใช้สื่อโซเชียลเชื่อมโยงคนไว้ด้วยกัน

และ 4. การพัฒนาเมืองแบบไม่กีดกัน เช่น ระบบขนส่งมวลชนต้องทั่วถึง พื้นที่สาธารณะต้องมีอย่างเพียงพอ

ความเหงาเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองในสังคมปัจจุบัน การทำความเข้าใจความเหงา ทั้งความรู้สึกของตัวเอง และผลกระทบต่อสังคมเป็นเรื่องสำคัญ และหวังว่าในอนาคตเราจะเรียนรู้เรื่อง “ความเหงา” ได้มากขึ้นไปอีก และรับมือกับมันได้อย่างมั่นคง

ที่มา
https://www.the101.world/isolation-in-new-world-3/
https://www.independent.co.uk/life-style/millennials-lonely-depression-anxiety-mental-health-odds-doubling-unemployed-study-a8319686.html
https://www.opinium.co.uk/lonely-britain/