หนึ่งในความรู้สึกที่ไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้นคือ “ความเศร้า” ความเศร้าเป็นเหมือนกับความรู้สึกอื่นๆ ที่เข้ามาแล้วจากไป อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีภาวะเศร้านานกว่าคนอื่นๆ
แน่นอนว่าอารมณ์เศร้าสามารถจางหายไปเอง เมื่อเวลาผ่านไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องหาวิธีรับมือกับมัน เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตเช่นความเครียดและโรคซึมเศร้าได้
แต่ละคนมีวิธีเยียวยาตัวเองจากความเศร้าแตกต่างกันไป ถึงอย่างนั้น ในทางจิตวิทยาก็มีคำแนะนำดังนี้
1. ปล่อยให้ตัวเองได้เศร้า
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า การข่มใจ เก็บซ่อนน้ำตาเอาไว้ไม่ให้ใครเห็นว่าเราโศกเศร้าเป็นเรื่องของคนเข้มแช็ง นั่นคือความเข้าใจผิด การกดความรู้สึกเอาไว้ ยิ่งบ่มเพาะความเครียด ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเราในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการรับรู้และยอมรับความรู้สึกตนเอง ถ้ารู้สึกว่าอยากร้องไห้ก็ร้องออกมา หรืออยากจะแสดงความเสียใจในแบบอื่นๆ เช่น เขียนหนังสือระบายความรู้สึก หรืออยากเล่าเรื่องนี้ให้ใครสักคนฟังก็ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ
การได้แสดงออกไป จะช่วยให้เราสามารถปรับสมดุลความรู้สึกได้ง่ายขึ้น
2. หลีกเลี่ยงคนที่ไม่เห็นใจเรา
มันไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ถ้าเราแสดงความเสียใจออกไป แล้วเรากลับรู้สึกแย่มากกว่าเดิม เมื่อได้ยินถ้อยคำที่ตัดสินหรือตำหนิจากคนอื่น โดยเฉพาะความเศร้าจากการสูญเสียคนที่เรารักที่ต้องใช้เวลาทำใจ เราควรอยู่ห่างคนที่ไม่เห็นใจทั้งในชีวิตประจำวัน รวมถึงสื่อโซเชียลต่างๆ
3. พบปะพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์แบบเดียวกัน
การได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกับคนที่ผ่านเรื่องราวเศร้าๆ มาแบบเดียวกัน จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก การได้แชร์ความรู้สึกยังทำให้เราเข้าใจกันและกันอีกด้วย
4.ออกกำลังกาย
เวลาเราออกกำลังกายร่างกายจะปล่อย “เอ็นโดรฟิน” หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา มีผลวิจัยรายงานว่าคนที่ออกกำลังกายติดต่อกัน 10 สัปดาห์ จะมีกระฉับเฉง มองโลกในแง่บวก และสงบใจได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
5. พาตัวเองออกจากจุดกำเนิดความเศร้า
มีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าการอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้เราเยียวยาจิตใจได้ช้า เพราะอาจเจอสิ่งกระตุ้นให้เรารู้สึกเศร้าช้ำๆ การออกเดินทาง หรือการหากิจกรรมใหม่ๆ ทำ ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
ความเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าวิตก สิ่งสำคัญคือการอยู่กับมันอย่างมั่นคง ในระหว่างที่ใช้เวลาเยียวยาตนเอง ☺
*อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เหมาะสำหรับคนที่ตกอยู่ใน “อารมณ์เศร้า” แต่ไม่ใช่ทางออกที่ใช้รักษา “โรคซึมเศร้า” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง คนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือสงสัยว่ากำลังเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบแพทย์