เพราะอะไรทำไมต้องเศร้า?

มีใครเคยถามตัวเองไหมว่า ในเมื่อทุกๆ คนต่างก็ต้องการความสุขในชีวิต แล้วทำไมเราถึงต้อง “เศร้า” กันด้วย อย่างไรก็ตาม ความเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดล้วนต้องเผชิญ

วิทยาศาสตร์แห่งความเศร้า

ในทางวิทยศาสตร์ได้อธิบายความเศร้าไว้ว่าเป็นการทำงานของ สมองกลีบท้ายทอย สมองกลีบอินซูลาฝั่งซ้าย ทาลามัสฝั่งซ้าย และฮิปโปแคมปัส  ทั้งหมดนี้รวมกันประมวลผลเรื่องความขัดแย้ง ความเจ็บปวด ความโดดเดี่ยวทางสังคม ความทรงจำ ความรู้สึกดีใจที่ได้รางวัล ความสนใจ ประสาทสัมผัสทางร่างกาย การตัดสินใจ และการแสดงความรู้สึก 

ความซับซ้อนของสมองทำให้คนเราสามารถรู้สึกเศร้าได้หลากหลายรูปแบบ ต่างออกไปในแต่ละคน

นอกจากนี้ แม้ความเศร้าจะเกิดที่สมอง แต่มันก็ส่งผลต่อร่างกายในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น อาการปวดหัว ปวดตามข้อ เปลี่ยนรูปแบบการนอนให้นอนไม่หลับหรือเอาแต่นอนตลอดวัน เปลี่ยนรูปแบบการกินให้กินไม่หยุดหรือไม่กินอะไรเลย 

เมื่อความรู้สึกเศร้าอยู่ในตัวของเรานานๆ มันจะไปกระตุ้นฮอร์โมน “คอร์ติซอล” หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด นั่นจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของเราสูงขึ้นอีกด้วย

จิตวิทยาแห่งความเศร้า

ความเศร้าเป็นราคาที่เราต้องจ่าย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น

นี่คือคำจำกัดความของความเศร้าที่เว็บไซต์ scienceofpeople.com อ้างอิงเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ความรู้สึกเศร้ามีหน้าที่คล้ายคลึงกับความเหงา ที่เป็นสัญชาติที่ร่างกายใช้เตือนว่ามนุษย์เราต้องการกันและกันมากแค่ไหน ความเศร้ากลายเป็นแรงผลักดันให้คนหนึ่งเริ่มผูกสัมพันธ์กับอีกคนหนึ่ง เช่นเดียวกับการจูงใจให้คนอยากรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ยาวนาน

อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Inside Out  ความเศร้า ก็ได้ทำให้ Riley ตัวเอกของเรื่องได้ปรับความเข้าใจกับครอบครัว แทนที่จะเลือกใช้ความโกรธ แล้วหนีออกจากบ้านไป

ความโศกเศร้ากับสังคม

ความเศร้าเป็นภาวะที่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่อยากให้เกิดกับตนเอง และนั่นคือหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมัน ที่จะเป็นปัจจัยให้คนเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่น การถูกคนรักบอกเลิก ทำให้หันมาดูแลตัวเองมากกว่าเดิม การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ทำให้ญาติพี่น้องได้มารวมตัวกัน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัญชาติญาณจะผลักดันให้คนเราเข้าหากัน นอกจากจะสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดปลอดภัย การรวมกลุ่มกันยังช่วยให้เกิดการระดมความคิดและช่วยเหลือกันรับมือกับความแปรปรวนของธรรมชาติ จนนำไปสู่การสร้างสังคมและอารยธรรมต่างๆ ขึ้นมา 

ด้วยเหตุนี้ ถึงจะไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์นัก ความเศร้าคือหนึ่งในความรู้สึกที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์

ที่มาของข้อมูล
https://www.prevention.com/life/a20500351/your-body-on-sadness/
https://www.scienceofpeople.com/sadness/
https://www.weforum.org/agenda/2016/09/feeling-happy-sad-this-is-how-the-brain-manages-emotion-and-mood
https://en.wikipedia.org/wiki/Sadness