ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตมาแล้วว่าในประชาชนไทย 100,000 คน มีคนเลือกจบชีวิตตัวเอง 6.35 คน หรือเฉลี่ยแล้วเดือนละ 340 คน โดยสาเหตุหลักของการเลือกจบชีวิตมาจากปัญหาความสัมพันธ์
ปัญหาความสัมพันธ์ นำไปสู่ความเศร้า แม้ว่าความรู้สึกนี้มีหน้าที่กระตุ้นให้คนเราสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ความเศร้าก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเลือกจบชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีความเศร้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
ความเศร้าที่เรื้อรังจะนำไปสู่ความคิดว่า รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิด ไร้ค่า เบื่อชีวิต และสุดท้ายคือการยุติการมีอยู่ของตัวเอง
เมื่อดูจากปัจจัยทางการแพทย์ จะพบว่าสมองของคนที่ฆ่าตัวตายจะมีสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน, 5-HT และ 5-HIAA รวมถึง โดพามีน ลดลง การขาดหายไปของสารสื่อประสาทเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ให้คนรู้สึกเศร้าและหดหู่ แต่ทำให้เขาขาดความยับยั้งชั่งใจในการกระทำความรุนแรง จนเกิดความสูญเสียตามมา
ความเศร้าและการจบชีวิต
“ปกติแล้วผู้ตายเป็นคนร่าเริง”
นี่คือคำพูดของญาติหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิตที่มักพูดกันบ่อยๆ แน่นอนว่าความรู้สึกภายในใจไม่ใช่สิ่งที่ใครสังเกตเห็นได้ง่าย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการจบชีวิตนั้นจะเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ
“คนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้านำมาก่อน อาการอาจมีน้อย เช่น เริ่มต้นจาก อารมณ์เบื่อ ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยสนใจหรืออยากจะทำอะไรแม้แต่ กิจกรรมที่เคยชอบทำหรือเคยเพลิดเพลิน”
กล่าวโดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นายแพทย์พนม ยังกล่าวอีกว่าก่อนที่คนจะฆ่าตัวตาย เขามักจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้คนรอบข้างเห็นเช่น
– การบ่นเรื่องอารมณ์เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้
– การพูดถึงชีวิตในทางหมดหวัง เศร้าสร้อย
– การสงสัยในชีวิต เช่น เกิดมาทำไม คนเราทำไมถึงมีความทุกข์
– การบ่นเรื่องเบื่อชีวิต อยากตาย
ถ้าคนๆ มีอายุมากขึ้น หรือมีครอบครัวแล้ว อาจจะมีพฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มเข้าไปด้วย
– การฝากฝังลูกเมียแก่คนอื่น
– การทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร
สัญญาณเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ต้องไม่มองข้าม
การที่คนรอบข้างสังเกตเห็นและหยิบยื่นความช่วยเหลือ เช่น เข้ามาสอบถามความรู้สึกและรับฟังโดยไม่ตัดสิน หลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบเช่น “เข้มแข็งไว้สิ ของแบบนี้มันอยู่ที่ใจ” หรือ “หัดคิดบวกบ้างสิ จะได้เลิกเศร้า” สิ่งเหล่านี้หยุดยั้งความสูญเสียได้
เพราะความเศร้ามีหน้าที่ผลักดันให้คนออกไปเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในสังคม เราในฐานะคนๆ หนึ่งสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนมีความทุกข์รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก และนี่คือหนทางเยียวยาวความเศร้าที่ทรงพลังที่สุด