มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งพูดถึงการฆ่าตัวตายได้อย่างน่าสนใจ หนังเรื่องนั้นชื่อว่า Suicide Circle จากประเทศญี่ปุ่น ที่พูดถึงสาเหตุของการจบชีวิตของคนๆ หนึ่งว่า พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับคนรอบตัวและสังคมได้ เลยไม่รู้สึกถึงความหมายของการมีชีวิต
และนั่นทำให้ “สายสัมพันธ์” กับคนรอบข้าง คือเครื่องมือเยียวยาความเศร้า และทำให้คนรู้สึกถึงความหมายของการมีอยู่
แน่นอนว่า การปลิดชีวิตตนเองเป็นความสูญเสียที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิด ถึงอย่างนั้นเราสามารถป้องกันได้ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ตัว และทำให้คนที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก
ถ้าเราสงสัยว่าคนๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะเลือกจบชีวิตตนเอง (โดยเฉพาะคนที่เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนหน้า) จิตแพทย์แนะนำว่าให้พูดเรื่องนี้กับเจ้าตัวโดยตรงคือทางเลือกที่ดีที่สุด
หลายคนอาจคิดว่าการพูดถึงการฆ่าตัวตายกับคนที่มีแนวโน้มอยากตายจะไปกระตุ้นให้เขาลงมือทำจริง แต่ความจริงแล้ว การให้ผู้ที่ทุกข์ใจได้แสดงความในใจออกมา จะช่วยเยียวยาพวกเขาได้ สิ่งที่ทำให้คนที่กำลังอยู่ในภาวะหดหู่และอยากตายเปลี่ยนความคิดคือความรู้สึกว่ามีคนเข้าใจและสามารถรับฟังพวกเขาได้โดยไม่ตัดสิน
How to Talk to a suicidal person
เราสามารถเริ่มต้นพูดคุยกับคนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายด้วยคำพูดเหล่านี้ เช่น
“ช่วงนี้ ฉันเห็นคุณเปลี่ยนไป เลยอยากรู้ว่าตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง“
“ฉันอยากถามอะไรหน่อย เห็นว่าช่วงนี้คุณดูไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่“
เมื่อคนๆ นั้นเริ่มเปิดใจเล่าให้เราฟัง เราก็สามารถถามคำถามปลายเปิดต่อไปได้ว่า
“คุณเริ่มรู้สึกแบบนี้มานานเท่าไหร่”
“เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า คุณถึงได้รู้สึกแบบนี้”
“ฉันสามารถช่วยคุณอย่างไรได้บ้าง”
“เคยคิดถึงการรับความช่วยเหลือบ้างไหม”
เช่นเดียวกับคำพูดที่สื่อถึงความเอาใจใส่ของเรา
“คนไม่ได้อยู่คนเดียวนะ ฉันอยู่ตรงนี้เสมอ”
“ฉันอาจไม่เข้าใจความรู้สึกคุณได้ทั้งหมด แต่ฉันเป็นห่วงคุณและอยากช่วยเหลือ”
เราควรหลีกเลี่ยงท่าทีบางอย่าง ที่ไปซ้ำเติมคนที่กำลังทุกข์ ได้แก่ การแสดงความตระหนกตกใจ และตอบกลับไปด้วยท่าทีสอนสั่งว่าการฆ่าตัวตายมันผิดหรือเป็นบาป ยิ่งทำเช่นนั้นยิ่งผลักเขาออกไป ทำให้อีกฝ่ายยิ่งรู้สึกผิดกับตัวเองมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ เวลาพูดคุยกับคนที่กำลังเศร้า สิ่งสำคัญคือท่าทีของคนฟัง การแสดงให้เห็นว่าเราเป็นห่วง ยินดีอยู่เคียงข้างอย่างไม่ตัดสิน และตั้งใจฟังความทุกข์ของอีกฝ่ายจริงๆ ภาษากายเหล่านั้นสื่อสารได้ดีกว่าคำพูด ดังนั้นคนที่รับฟัง ไม่ต้องกังวลไปนักว่าจะเลือกใช้คำได้ถูกต้องหรือไม่ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด
ถ้าอีกฝ่ายเปรยถึงความรู้สึกอยากตาย หรือพูดถึงการจบชีวิตออกมา เราก็สามารถถามไถ่ความต้องการฆ่าตัวตายของอีกฝ่ายได้เช่นกัน ด้วยน้ำเสียงสงบ แสดงความห่วงใย เช่น
“ความรู้สึกเบื่อชีวิตนั้นมากจนคิดอยากตายหรือไม่”
“เคยวางแผนฆ่าตัวตายหรือไม่”
และ “มีอะไรยับยั้งคุณให้ยังไม่ได้กระทำในขณะนี้”
หลังจากพูดคุย เราควรแนะนำให้อีกฝ่ายไปพบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการเยียวยาจากผู้เชี่ยวชาญ
ถึงเราไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนความคิดของใครได้โดยตรง สายใยของความเข้าใจและเห็นใจ คือหนึ่งในหนทางเยียวยาความเศร้าของกันและกัน
เช่นเดียวกับการเป็นกำลังใจให้คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายได้เข้ารับการบำบัดจากแพทย์ได้อย่างสบายใจ ไม่รู้สึกถึงปมด้อยทางสังคม (social stigma)
ปล. ความเศร้ากับโรคซึมเศร้า แม้จะมีจุดความรู้สึกหดหู่เป็นจุดร่วม ทั้งสองเป็นคนละสิ่งกัน ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กระทบจิตใจของเราในช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งความเศร้าจะจางหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ จึงทำให้รู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีเรื่องใดๆ มากระตุ้นโดยตรง
แน่นอนว่าการพูดคุยและแสดงความห่วงใย เป็นส่วนช่วยเยียวยาที่ดี แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด โรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ