เมื่อเรากลัวอะไร เรามักจะพาตัวเองหนีไปให้ไกลจากสิ่งนั้น แต่มีความกลัวอยู่อย่างหนึ่งที่มีมนต์สะกดให้คนเข้าหาอยู่เสมอ นั่นคือ “ภาพยนตร์สยองขวัญ” แม้ว่าบางคนจะยอมจ่ายเพื่อปิดตาดูไปเกินครึ่งเรื่องก็ตาม
ทำไมความน่ากลัวในภาพยนตร์สยองขวัญถึงเป็นที่นิยม? ทางจิตวิทยาได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้
สองปัจจัยแรกคือ “ความตึงเครียด” และ “ความใกล้ตัว” นั่นหมายถึงสถานการณ์ในเรื่องต้องหนักหนาสาหัสที่ทำให้ตัวละครถึงตายได้ และมันต้องน่าเชื่อถือพอที่คนดูสามารถจินตนาการได้ว่า เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับตัวเองได้อีกด้วย
สัญชาตญาณเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่มีในมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้ความกลัวของวัฒนธรรมหนึ่งสามารถส่งต่อไปยังคนต่างวัฒนธรรมได้ง่าย เช่นเดียวกับฉากต่างๆ ในเรื่องที่มักเกิดขึ้นในสถานที่ทั่วๆ ไป อย่างในบ้าน โรงเรียนหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้คนดูแทนตัวเองเข้าไปในหนังได้ทันที ยิ่งคนดูรู้สึกอินพวกเขาจะยิ่งกลัวมากขึ้น
นอกจากนี้ “ความใกล้ตัว” ยังหมายถึงการออกแบบ “ตัวร้าย” ในหนังสยองขวัญอีกเช่นกัน “ผี” หรือ “ฆาตกรโรคจิต” ในหนังสยองขวัญ ต้องมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับมนุษย์ปกติ แต่มีรายละเอียดบางอย่างต่างออกไป เช่น ฆาตรกรโรคจิตต้องใส่หน้ากาก ทำให้คนดูไม่อาจล่วงรู้ความคิดหรืออารมณ์ของตัวละครนั้นได้ เช่นเดียวกับซอมบี้หรือวิญญาณอาฆาต ที่ “เคย” เป็นมนุษย์มาก่อน แต่มีหน้าตาที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป
ความคล้ายคลึงกับคน ยิ่งทำให้ตัวร้ายในเรื่อง “น่ากลัว” ยิ่งขึ้น
รวมถึงปัจจัยที่สาม ที่ทำให้ความกลัวที่เกิดจากภาพยนตร์ ต่างจากความกลัวในชีวิตจริง คือการที่คนดู “รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องแต่ง”
การเห็นตัวละครตกอยู่ในภาวะอันตราย สมองของเราจะเข้าสู่โหมด “จะสู้หรือจะหนี” (Fight or Flight) ที่เกิดจากสมองส่วน Amygdala ถูกกระตุ้น ทำให้เรารู้สึกกลัว จากนั้นก็จะส่งต่อไปยังสมองส่วน Hypothalamus ที่จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนออกมา นั่นก็คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดและฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น
แต่ในขณะที่เรากำลังเครียดและตื่นเต้นกับเหตุการณ์ข้างหน้า สมองเราก็ประเมินว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง เรากำลังนั่งดูเหตุการณ์สมมุติอยู่” เมื่อเรารู้ตัวว่าปลอดภัย สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขและความสงบใจ เช่น เอ็นโดรฟิน โดพามีน และเซโรโทนินออกมา
ความเครียดและตื่นเต้นสั้นๆ ที่ตามมาด้วยความสุข ทำให้คนที่ดูหนังสยองขวัญรู้สึกดี และอยากดูต่อไปอีก
การที่ผู้ชม “รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องแต่ง” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสยองขวัญได้รับความนิยม เพราะในทางกลับ กันถ้าพวกเขารู้สึกว่าเหตุการณ์ข้างหน้าคือเรื่องจริง ความรู้สึกปลอดภัยในการชมจะหายไป และสมองจะไม่หลั่งฮอร์โมนความสุขออกมา
มีงานวิจัยหนึ่งในปี 1994 ที่ให้นักศึกษานั่งดูสารคดีที่มีภาพสยดสยอง ได้แก่ การฆ่าวัวและชำแหละวัวในโรงฆ่าสัตว์ การใช้ค้อนเจาะศีรษะของลิงเพื่อเปิดกระโหลกของมันออกมาให้เห็นสมองของลิง และคลิปของเด็กที่ถูกถลกหนังบนใบหน้าออกหมดเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด
ผลที่ได้คือ 90% ของนักศึกษาที่ดูวิดิโอทั้งสามตัว ไม่มีใครทนดูได้จนจบ ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเสียเงินไปดูหนังสยองขวัญเลือดสาดกันเป็นปกติ
ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกถูกสร้างในปี 1896 ซึ่งก็คือเรื่อง The Haunted Castle ผลงานการกำกับของ Georges Méliès ที่เกิดขึ้นแทบจะพร้อมกับการกำเนิดของภาพยนตร์ ในสมัยนั้นภาพยนตร์ยังเป็นหนังเงียบและถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นกลับไม่ได้ทำให้คนสร้างหยุดสร้างและคนดูหยุดดูหนังสยองขวัญแต่อย่างไร
122 ปีผ่านไป ภาพยนตร์สยองขวัญก็มีแต่จะเพิ่มดีกรีความน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาวิธีใหม่ๆ มากระตุ้นให้เรากลัว และปลอบประโลมด้วยสารแห่งความสุขในภายหลัง