ความกลัวคือสัญชาตญาณสำคัญของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์รักษาเผ่าพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ ความกลัวทำให้เราไม่ออกไปนอกถ้ำยามวิกาล ทำให้เรารีบระวังตัวเมื่อเห็นพุ่มไม้ใกล้ตัวเราขยับไปมา เราจึงปลอดภัยจากเสือและสัตว์มีพิษต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ยังคงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีจริงอย่าง “ผี” อีกด้วย บางคนกลัวผีแม้จะเกิดมาไม่เคยเจอก็ตาม
วิทยาศาสตร์แห่งความกลัว
ความกลัวของมนุษย์เกิดจากสมองสั่งการ สมองที่ว่าคือส่วน Amygdala ที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเล็กๆ ในสมองของมนุษย์ทั้งหมด สมองส่วน Amygdala มีหน้าที่หลักๆ สองอย่างคือ 1. บันทึกความทรงจำ ในเหตุการณ์ต่างๆ ว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร และ 2. กระตุ้นความรู้สึกกลัว ซึ่งจะแสดงอาการออกมาเป็นความวิตกกังวลอย่างรุนแรง เลือดจะสูบฉีดเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น และลืมทุกอย่างเพื่อโฟกัสอยู่กับสิ่งที่เรากลัวเพียงอย่างเดียว เพื่อหาทางปกป้องตัวเอง
เพราะความกลัวเกิดจากการที่สมองถูกกระตุ้นความทรงจำในแง่ลบกับสิ่งนั้นซ้ำไปมา คนเราจึงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเช่น ผีหรือสิ่งลี้ลับต่างๆ ได้ เพราะสมองของเรารู้สึกถึงสิ่งเลวร้ายจากผีที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราไปล่วงหน้าแล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเงาดำที่เห็น หรือเสียงแปลกๆ ที่ได้ยินมันมาจากไหน
ความกลัวในมุมมองทางจิตวิทยา
นักจิตวิทยาอธิบายความกลัวผีหรือ Phasmophobia ว่าเป็นอาการที่มีที่มาจากความกลัวความมืดขั้นรุนแรงหรือ Nyctophobia ความมืดทำให้คนรู้สึกอ่อนแอ ไม่มั่นคง เพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้ สมองของเราจึงตีความความมืดตรงหน้าว่าจะมีสิ่งลี้ลับออกมาทำอันตรายกับเรา
นอกจากความมืดแล้ว อีกทฤษฎีมองว่าความกลัวผีมีที่มาจากความกลัวตายหรือ Thanatophobia ที่เรามีภาพติดตาว่าคนตายร่างกายจะเน่าเฟะ น่าขยะแขยง ประกอบความตายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ สมองของเรายิ่งพร้อมตีความความตายให้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ภาพของผีตาโบ๋ หน้าเละ จึงทำให้คนเรารู้สึกตระหนกตกใจ
ผีมีจริงหรือไม่ยังคงเป็นคำถามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ และความ “กำกวม” ที่ว่านี้ทำให้ความกลัวผียังคงอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน
ถึงอย่างนั้น ความกลัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ความกลัวช่วยให้เรารอดพ้นจากภัยต่างๆ แต่ถ้าความกลัวมันมากเสียจนเราไม่ใช่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข ก็สามารถไปพบแพทย์ เพราะ phobia เป็นอาการที่รักษาให้หายได้