สมอง ร่างกาย และความกลัว

ความกลัวมาจากไหน?

ความกลัวในอดีตโดยบรรพบุรุษของเรานั้นเกิดจากความกลัวต่อภยันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมองเห็นผู้ล่าหรือเมื่อมีภัยพิบัติกำลังคลืบคลานเข้ามา เมื่อเราเริ่มเห็นว่าสิ่งนั้นส่งผลต่อชีวิตและร่างกายของเรา สมองจะส่งสารแห่งความกลัวไปยังกระแสทั่วร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เราตัดสินใจว่าจะหนีหรือสู้กับสถานการณ์อันตรายที่อยู่ตรงหน้า 

ความกลัวในความหมายของสมองและร่างกายจึงเป็นการสั่งการให้ใช้ประสิทธิภาพของร่างกายอย่างสูงสุดเพื่อการเอาชีวิตรอดอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาสั้นๆ และนี่คือกลไกของมัน

ความกลัวจากสมอง

จุดเริ่มต้นของความกลัวนั้นมาจากสมองส่วนที่รูปร่างคล้ายเม็ดอัลมอนต์ที่มีชื่อว่า อะมิกดะลา (amygdalae) ที่มีรากศัพท์ภาษากรีก มาจากคำว่าอัลมอนต์เช่นเดียวกัน 

ต่อมอะมิกดะลาทั้งสองข้างนั้นตั้งอยู่ใกล้กับสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ฝังลึกอยู่ในกลีบขมับส่วนกลาง

อะมิกดะลานั้นมีบทบาทอย่างมากเกี่ยวกับระบบความจำและการตอบสนองความรู้สึก โดยเฉพราะอย่างยิ่งความกลัว หากคุณพบเจอสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ทำให้หัวใจเต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะ โปรดรู้ไว้ว่าก่อนที่หัวใจคุณจะเริ่มบ้าคลั่งอะมิกดะลาต่างหากที่เป็นผู้ริเริ่มร้องลั่นสั่นกระดิ่งการจนร่างกายของคุณต้องรีบตอบสนองต่อความกลัวนั้น

 

สัญญาณเตือนภัยจากอดรีนาลีน

เมื่อข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายจากสมองถูกประกาศออกไป ก็เป็นหน้าที่ของฮอร์โมนความเครียดและดรีนาลีนต้องรีบทำงาน

อดรีนาลีนถูกปลดปล่อยพร้อมกับกระจายข่าวภัยคุกคามตามช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์ประสาทตัวอื่นๆ 

เหมือนคนวิ่งถือคบเพลิงในหมู่บ้านแล้วบอกว่าไฟไหม้ จนทุกคนแตกตื่นออกมาพร้อมกันโดยไม่ได้คิดถึงความเป็นจริงว่าตัวเองนั้นอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจริงๆ หรือเปล่า เพราะความเป็นจริงแล้วเมื่อเราได้ยินสัญญาณเตือนเรามักวิ่งหลบออกมาข้างนอกและตื่นตัวตลอดเวลา ก่อนที่จะประเมินสถานการณ์ความเป็นจริงทีหลัง

เช่นเดียวกับสัญญาณเตือนภัยของสมองและร่างกาย เมื่ออดรีนาลีนเริ่มวิ่งส่งสัญญาณเตือนภัยกระจายออกไป สมองและร่างกายของคุณจะถูกกระตุ้นอย่างหนักในช่วงสั้นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะปลอดภัย

อดรีนาลีนจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นและเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจมากขึ้น ประสิทธิภาพในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองและร่างกายส่วนอื่นๆ ที่สำคัญต่อการอยู่รอด

คุณจะหายใจเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มออกซิเจนไปยังปอดและเลือด เมื่อเลือดมากขึ้นนั่นหมายถึงออกซิเจนที่มากขึ้นและพลังงาน (น้ำตาล) ที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณวิ่งได้เร็วขึ้น ต่อสู้ได้ยาวนานมากกว่าปกติ

ฮอร์โมนความเครียดทำงาน

ขณะที่อดรีนาลีนกำลังกระตุ้นร่างกายอย่างหนัก สมองส่วนไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ก็เริ่มปล่อยฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา

คอร์ติซอลจะทำการย้ายพลังงานไปยังกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องใช้เพื่อการต่อสู้หรือเพื่อการหนี จากส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่ไม่เกี่ยวข้องกับการเอาชีวิตรอดฉุกเฉินนี้ เช่น ส่วนการย่อยอาหาร หรืออวัยวะสืบพันธ์ 

ร่างกายจะหยุดคิดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดไปชั่วขณะเพื่อที่จะใช้พลังงานให้มากที่สุดไปกับการต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอด

เหมือนจะดี แต่มากเกินไปก็ไม่ดี

เห็นได้ว่าเมื่อเกิดความกลัวร่างกายเราถูกกระตุ้นจนถึงจุดที่มีสมรรถภาพสูงสุด นั่นดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่สุดแล้วอะไรที่มากเกินไปนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีอยู่วันยังค่ำ

เราจำเป็นต้องมีอดรีนาลีนและฮอร์โมนคอร์ติซอลเพื่อมีชีวิตรอด แต่เมื่อสารสองตัวนี้อยู่ในภาวะที่สูงเกินไปแบบเรื้อรังนั่นอาจส่งผลในคุณมีความเครียดมากเกินไป 

ส่วนความกลัวจากสมองส่วนอะมิกดะลาที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อสมองส่วนอื่นๆ เช่นส่วนของความจำและส่วนของอารมณ์ นั่นอาจส่งผลให้การตอบสนองเรื่องความกลัวนั้น เปิด-ปิด ไม่ปกติ

อารมณ์ต่างๆ เช่นกลัว ตื่นเต้น ดีใจ มักส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวและใช้สมรรถภาพได้มากกว่าปกติ ฟังแล้วน่าตื่นเต้นเพราะเราได้เพิ่มขีดจำกัดของตัวเองมากขึ้น แต่ความจริงแล้วดีกว่ามากหากเรารักษาสภาวะร่างกายและจิตใจตัวเองให้อยู่ในสภาวะสมดุลตลอดเวลา

เหมือนดั่งเครื่องยนต์รถ เราสามารถกดเทอร์โบบูสเพื่อเพิ่มความเร็วมันได้ แต่มันก็มีราคาการสึกกร่อนที่ต้องจ่ายเช่นกัน การซ่อมแซมในแต่ละครั้งไม่น่าคุ้มค่ากับการรักษาไว้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเรามีร่างกายและจิตใจเดียว