ความเชื่อกับความกลัว

เคยคิดไหมว่าทำไมคนยุคก่อนถึงได้ทำพิธีบูชายัญ นำอาหาร สัตว์เป็นๆ หรือแม้แต่คนด้วยกันเอง มาสังเวยชีวิตแก่เทพเจ้า  

ความเชื่อว่าในธรรมชาติมี “เทพ” หรือ “พลังเหนือมนุษย์” สถิตอยู่ เป็นสิ่งที่อารยธรรมทั่วโลกทั้งกรีก อียิปต์ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ของไทยเองก็มีร่วมกัน 

ความเชื่อเหล่านั้นมีที่มาเหมือนกันคือ “ความกลัว” 

ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุ น้ำท่วม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เรามนุษย์ควบคุมไม่ได้ นั่นทำให้มนุษย์รู้สึกหวาดกลัว ในยุคที่ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายสิ่งเหล่านั้นให้เราเข้าใจ คนเราได้อธิบาย “ธรรมชาติ” ให้เป็น “เทพเจ้า” ที่มีพลังเหนือมนุษย์ไปแทนเพื่อจัดการความกลัวเหล่านี้ นั่นทำให้เกิดพิธีบวงสรวงต่างๆ เพื่อหวังว่าเทพประจำสถานที่นั้นๆ จะรู้สึกดี และธรรมชาติจะปราณีกับมนุษย์

การลบหลู่กับความกลัว

เพราะความเชื่อมันผูกโยงกับความกลัวมาตั้งแต่แรก เมื่อใครคนหนึ่งทำอะไรที่ขัดต่อความเชื่อ สมองส่วน Amygdala ที่สร้างความรู้สึก “กลัว” ของกลุ่มคนที่เชื่อจะถูกกระตุ้นทันที และนั่นทำให้คนเราต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างกับมัน 

สมองของคนเวลากลัวจะถูกปรับให้คิดอยู่สองทางคือ “จะสู้หรือจะหนี” (Fight or Flight) 

ถ้าสิ่งที่ทำให้เรากลัวไม่ได้มีอำนาจมากเกินกว่าที่เราจะสู้ได้ คนเราก็มักจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องความเชื่อของตนเองเอาไว้ โดยไม่สนว่าสิ่งที่ตนทำจะก้าวร้าวรุนแรงขนาดไหน 

ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ความเชื่อที่มีคนนับถือสืบทอดกันมายาวนาน จนกลายเป็นธรรมเนียมตายตัว เช่น มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามเพศบางเพศเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือมีกฎว่าคนที่เชื่อแบบนี้ต้องทำแบบนี้เท่านั้น เมื่อมีคนหนึ่งคนตั้งคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นต่อความเชื่อที่ต่างออกไป ผู้คนก็พากันโกรธแค้นต่อคนๆ นั้น อย่างรุนแรง 

ในเมื่อความเชื่อเหล่านั้นมีที่มาจากความกลัว และความกลัวเป็นสัญชาตญาณเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์ การรู้สึกว่าความเชื่อที่ตนเองยึดถือถูกลบหลู่ จึงไม่ต่างจากการถูกขู่ฆ่า ไม่แปลกที่ว่าหลายๆ คนทำได้แม้กระทั่งทำร้ายคนอื่น หรือยอมปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ

ความเชื่อ vs ความจริง

สำหรับผู้ที่เชื่อแล้ว ความเชื่อของพวกเขาคือ “ความจริง” ที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามหรือหาข้อพิสูจน์ใดๆ ถึงอย่างนั้น “ความเชื่อ” ไม่เท่ากับ “ความจริง” โดยอัตโนมัติ และในหลายๆ ครั้ง การท้าทายความเชื่อ นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อย่างเช่นที่ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและเป็นหนึ่งในมรดกโลก ในอดีต คนญี่ปุ่นถือว่าภูเขาไฟนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ และมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงเดินขึ้นภูเขาลูกนั้นมาเป็นพันปี เพราะถือว่าผู้หญิงเป็นเพศที่มีประจำเดือน เลือดประจำเดือนถือเป็นของสกปรก และจะทำให้ภูเขาเสื่อม

แน่นอนว่าสตรีญี่ปุ่นต่างก็รักษาธรรมเนียมนี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในสมัยเมจิ ที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง Fanny  Parkes ภริยาของท่านทูตอังกฤษ ได้เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีที่ญี่ปุ่นกับสามีของเธอ และ Fanny ตัดสินท้าทายธรรมเนียมด้วยการเดินขึ้นภูเขาไฟไปถึงยอดเขาในปี 1867

หลังจากที่ Fanny  Parkes ไปถึงยอด ภูเขาก็ไม่ได้เสื่อมลง แถมยังทำให้ชาวตะวันตกอยากไปเที่ยวภูเขาไฟฟูจิกันมากขึ้น นั่นทำให้ในปี 1868 กฎการห้ามผู้หญิงขึ้นเขาก็ถูกยกเลิกไป จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนทุกเพศทุกวัย

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเรากำลังโกรธใครเพราะเขากำลังลบหลู่สิ่งที่เราเชื่อ ก่อนที่จะแสดงพลังลบออกไป ลองถามตัวเองก่อนว่า เราโกรธเพราะอีกฝ่ายทำไม่ดีกับเรา หรือเรา “กลัวไปเอง” กันแน่

ที่มาของข้อมูล
https://www.gotoknow.org/posts/399199
https://www.youtube.com/watch?v=ssS4qazuMEQ
http://piyarith-tell.blogspot.com/2014/07/amygdala.html
http://factsanddetails.com/japan/cat25/sub165/item982.html