ประเภทของความเหงา

เราต่างก็รู้ดีว่ามีคนที่กำลังเหงา อาจเป็นตัวคุณเอง คนรอบข้าง เพื่อนในโซเชียลมีเดีย มีคนมากมาย ประกาศตัวว่าเหงา แต่ความเหงาของคนเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นความเหงาในแบบเดียวกัน ถึงคนที่เหงาจะรู้สึก เหงาเหมือนกัน พวกเขาก็ไม่ได้กำลังเหงาในแบบเดียวกัน

ความเหงาเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยตัวมันเอง แต่ประกอบขึ้นด้วยปัจจัยยิบย่อยหลาย อย่าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ทักษะทางอารมณ์ สิ่งที่กำลังเผชิญ ความรู้ สภาพแวดล้อม ฯลฯ ปัจจัยที่มีความ ละเอียดอ่อนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสร้างความเหงาที่มีความเฉพาะตัวขึ้นมา

จึงสามารถพูดได้ว่าคนที่เหงาไม่ได้เหงาแบบเดียวกันทั้งหมด เพราะความเหงาก็มีมากกว่า 1 รูปแบบ หากจะจัดวางความเหงาที่ละเอียดอ่อนก็คงจัดวางได้กว้าง ๆ แบบนี้

 

01-2

Interpersonal Loneliness

ความเหงาทางความสัมพันธ์

เป็นความเหงาที่เกิดจากการสูญเสีย หรือรู้สึกว่ากำลังจะสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เหนียวแน่น หรือ ความสัมพันธ์ที่สำคัญไป เช่น ความสัมพันธ์ทางครอบครัวไม่มั่นคง ทะเลาะกับเพื่อนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก เลิกกับแฟนที่คบกันมาเป็นปี สัตว์เลี้ยงตาย ฯลฯ
ความเหงาประเภทนี้เกิดขึ้นจากการสูญเสียความใกล้ชิด ทั้งทางร่างกาย และทางใจ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ถูก เติมเต็ม เหมือนมีอะไรขาดแหว่งไปในชีวิต จึงทำให้เกิดความรู้สึกเหงาตามมา

 

02-2

Social Loneliness

ความเหงาทางสังคม

ประเภทนี้เป็นความเหงาที่เกิดจากความรู้สึกถูกแบ่งแยก ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสังคม รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าสังคม ไม่ค่อยต้อนรับเรา
คุณอาจมีเพื่อน แต่จะไม่รู้สึกไม่ค่อยสนิทใจกับการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก หรืออยู่ในกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก อาจมีจุดเริ่มต้นจากการถูกปฏิเสธจากกลุ่มที่เคยอยู่ด้วยกัน นำมาซึ่งความกังวลว่าอาจถูกคนอื่นปฏิเสธเช่นนี้อีก ในอนาคต ทำให้เริ่มที่จะเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่น

 

03-2
Cultural Loneliness

ความเหงาทางความแตกต่าง

ความเหงาแบบนี้มักเกิดเมื่อย้ายจากที่ที่คุ้นชินไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ที่ต้อการการปรับตัว เช่น ย้ายโรงเรียน เข้ามหาลัย ย้ายที่ทำงาน ไปเรียนต่อต่างประเทศ ฯลฯ เป็นธรรมดาเมื่อต้องเจอกับวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากที่เคยชิน จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่เข้าพวก แปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับรูปแบบทางสังคม รู้สึกเป็นอื่นจากสังคมนั้น ๆ ความรู้สึกแปลกแยกเลยนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยว และความเหงา

 

04

Intellectual Loneliness

ความเหงาทางความรู้คิด

ความเหงานี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรารู้สึกว่าความคิดของคนอื่นช่างแตกต่างจากความคิดของเรา จึงทำให้ความรู้ และความคิดของเรากับคนอื่น ๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนที่มีความคิดไม่เหมือนชาวบ้าน คนที่ประหลาด คนที่ฉลาดเกินไป คนที่เก่งแบบสุด ๆ มัก ถูกมองว่าเป็นคนที่โดดเดี่ยว ดูเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อนคบ บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกของคนเหล่านี้ที่จะมีเพื่อนน้อย แต่พวกเขามักรู้สึกเข้าไม่ถึงคนทั่ว ๆ ไป เนื่องจากความคิด ความรู้ หรือความเข้าใจที่แตกต่าง

 

05

Psychological Loneliness

ความเหงาทางจิตใจ

เหตุการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อจิตใจ ส่งผลให้เราปลีกตัวออกจากคนอื่น และไม่ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์กับ ใคร โดยไม่รู้ตัว
เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับจิตใจ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสะเทือนใจ เหตุการณ์แบบนี้ สามารถแยกเราออกจากคนรอบข้างได้ เพราะเหตุการณ์ที่เราได้เจอนั้นไม่สามารถถูกเข้าใจโดยผู้อื่นได้ เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยวบนความคิดที่ว่า เรื่องที่เจอมาคนอื่นเข้าใจไม่ได้ คนอื่นจึงเข้าใจเราไม่ได้เช่นกัน และความ โดดเดี่ยวนั้นก็จะนำมาซึ่งความเหงาได้

 

06

Existential or Cosmic Loneliness

ความเหงาทางความตาย

ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความตายเท่านั้นที่จะพบเจอกับความเหงาประเภทนี้ได้ เช่น การมีโรคร้าย หรือการที่ มีอายุขัยมาก และตระหนักว่าตนเองนั้นอยู่ใกล้กับความตายมาก สิ่งที่คนเหล่านี้กำลังเจอเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปจากความเข้าใจของคนทั่วไป คนเหล่าเข้าใจดีว่าจะ ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เขากำลังเผชิญหน้า

ในเหตุการณ์ลักษณะนี้คนในครอบครัว รวมถึงคนใกล้ตัวก็จะไม่พูดถึงเรื่องความตายกับเจ้าตัว เพราะเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด จะทำให้หดหู่กันเสียเปล่า การที่ต้องเผชิญหน้าด้วยความไม่รู้อย่างโดดเดี่ยวจึงทำให้เกิดความเหงาประเภทนี้

ต้นเหตุของความเหงาต่าง ประสบการณ์ต่อความเหงาก็ต่าง การตอบสนองต่อความเหงาก็ต่าง รูปแบบ ความเหงาจึงมีมากมาย ประเภทความเหงาข้างต้นจึงได้ถูกแบ่งแบบกว้าง ๆ ให้พอที่จะจัดวางความเหงาที่ ละเอียดอ่อนของแต่ละคนลงไปได้

การทราบประเภทของความเหงาว่ากำลังเหงาแบบไหนจะช่วยให้เข้าใจที่มาของความเหงานั้นได้ จะได้ไปเยียวยาความเหงาได้ถูกจุด และเข้าใจความเหงาของคุณได้อย่างถูกต้อง